“วิโรจน์” ฟาด”ซูเปอร์ดีลวัคซีนม้าเต็ง” พังไม่เป็นท่า หลังแอสตร้าเซนเนกา เลื่อนส่งไป พ.ค. ปี 65 แฉ รบ.อุดหนุนสยามไบโอไซน์ 600 ล้าน แต่ไม่พบเงื่อนไขจำกัดส่งออกในกรอบสัญญา

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 15 ก.ค.64 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวในรูปแบบออนไลน์ ถึงกรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสื่อสารให้กับประชาชนทราบในหลายช่องทางว่า ในเดือนมิ.ย.จะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 6.3 ล้านโดส ในเดือนก.ค.-พ.ย. เดือนละ 10 ล้านโดส และ เดือนธ.ค. อีก 5 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส

โดยเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วยตนเองว่า ในไตรมาสที่ 3 วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา จะมีเต็มโรงพยาบาล เต็มแขนพี่น้องประชาชนคนไทย มีจนไม่พอเก็บ และในวันที่ 14 มี.ค. นายอนุทินยังให้สัมภาษณ์ยืนยันอีกด้วยว่า วัคซีนหลักของประเทศไทย คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา

แต่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรัฐบาลไทยกลับมีการจัดหาวัคซีนซิโนแวคอย่างต่อเนื่องถึง 19.5 ล้านโดส ทำให้ประชาชนสับสนว่า ตกลงวัคซีนยี่ห้อไหนเป็นวัคซีนหลักกันแน่ หากวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาเป็นวัคซีนหลัก เหตุใดจำนวนการส่งมอบถึงได้มีน้อยกว่าวัคซีนซิโนแวค และดูเหมือนการส่งมอบจะไม่เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนที่รัฐบาลเคยประกาศเอาไว้ และในเมื่อแอสตร้าเซนเนกาส่งมอบวัคซีนไม่ครบตามแผนในเดือนมิ.ย. เหตุใดรัฐบาลถึงไม่กระวีกระวาดเร่งรัดบังคับสัญญาให้ส่งมอบให้ครบ ในเมื่อกำลังการผลิตของวัคซีนแอสตร้าเซนเนกามีการประเมินว่ามีอยู่ 180 ล้านโดสต่อปี เฉลี่ย 15 โดสต่อเดือน

นายวิโรจน์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลเอาเงินภาษีมาอุดหนุนบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในวงเงิน 600 ล้านบาทนั้น มีการเบิกใช้จริง 596.23 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ ตามหนังสือ นร 1106/(คกง.)207 เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองของการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวการประชุมครั้งที่ 17/2563 ลงวันที่ 24 ส.ค. 63

ซึ่งมีการระบุเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่า ‘มีเงื่อนไขจำกัดการส่งออก เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนความต้องการและราคาวัคซีนที่เหมาะสม และวัคซีนที่เหลือบริษัทแอสตร้าเซนเนกาวางเป้าหมายในการกระจายให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้’ จึงเข้าได้ว่าประเทศไทยมีสิทธิที่จะได้รับการส่งมอบหรือมีสิทธิซื้อวัคซีนก่อน

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังเคยยืนยันอย่างหนักแน่นว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาจะไม่มีวันถูกตัดคิวหรือมีคนมาแย่งไปได้ เพราะผลิตในประเทศไทย คำถามคือในเมื่อประเทศไทยมีสิทธิจัดซื้อวัคซีนเป็นอันดับแรกและมีความชอบธรรมในการได้รับวัคซีนตามแผนการจัดหาวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน เหตุใดรัฐบาลถึงไม่พยายามหารือกับแอสตร้าเซนเนกาในการปรับลดหรือจำกัดการส่งออกวัคซีน เพื่อให้คนไทยรับวัคซีนตามสิทธิที่พึงได้รับ

ซ้ำร้ายเช้าวันนี้ในรายการเจาะลึกทั่วไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา 61 ล้านโดส ที่ตามแผนจะต้องจัดส่งภายในเดือนธ.ค. 64 มีแนวโน้มจะถูกขยายการส่งมอบไปในเดือน พ.ค. 65 และแอสตร้าเซนเนกาจะส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลประมาณร้อยละ 40 ของกำลังการผลิต ประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน และในสัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลาการส่งมอบ

อย่างไรก็ตาม โดยหลักการของการทำสัญญา แม้จะไม่มีการกำหนดระยะเวลาการส่งมอบเอาไว้ในสัญญาก็ตาม แต่จะต้องมีการระบุแผนประมาณการณ์ในการส่งมอบ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลนำแผนประมาณการณ์การส่งมอบมาชี้แจ้งให้ประชาชนได้รับทราบโดยเร็ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน และนายสาธิต ยอมให้มีการเลื่อนการส่งมอบวัคซีนให้ครบ 61 ล้านโดสไปเป็นเดือนพ.ค. 65 ได้อย่างไร ทำไมรัฐบาลถึงไม่พยายามที่ใช้อำนาจตามกฎหมายจำกัดการส่งมอบวัคซีน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีน” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า การที่นายสาธิตให้สัมภาษณ์โดยระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายอาจจะได้ผลหรืออาจจะไม่ได้ผลนั้น ตนได้ตรวจสอบเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสัญญาวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาที่ได้รับมาจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พบว่าในเอกสารที่ชื่อว่าหนังสือแสดงเจตจำนงก่อนทำสัญญา นายอนุทินได้ลงนามเอาไว้เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 63

โดยในตอนหนึ่งของหนังสือระบุว่าได้ตกลงหลักการส่งออกวัคซีนแบบปราศจากข้อจำกัดใดๆ โดยอยู่บนพื้นฐานการพูดคุยแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและแอสตร้าเซนเนกา แม้หนังสือแสดงเจตจำนงฉบับนี้จะไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายโดยทันทีก็ตาม แต่ทำไม พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน ถึงไปแสดงเจตจำนงตกลงหลักการให้มีการส่งออกโดยปราศจากข้อจำกัดได้อย่างไร หมายความว่าเงื่อนไขการอุดหนุนบริษัทสยาม ไบโอไซแอนซ์ จำกัด ที่ประเทศไทยจะได้รับการส่งมอบวัคซีนเป็นประเทศแรกนั้นไม่มีความหมายเลยหรือ

และเมื่อรู้ทั้งรู้เช่นนี้รัฐบาลกล้าที่จะลงนามทุนอุดหนุนให้กับบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้อย่างไร สิ่งที่ประชาชนอยากรู้ที่สุด คือ มีประโยคที่ระบุว่ารัฐบาลไทยสามารถจำกัดสิทธิการส่งออกและได้รับสิทธิในการจัดซื้อวัคซีนเป็นอันดับแรกอยู่ในสัญญาหรือไม่ และจะได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนเป็นอันดับแรก วัคซีนที่เหลือจึงจะนำไปส่งออกได้อยู่ในสัญญาหรือไม่ และสัญญาที่ได้รับมอบมาในตอนนี้ คือ สัญญาวัคซีน 26 ล้านโดส แล้วอีก 35 ล้านโดส นั้นอยู่ในสัญญาฉบับไหน หรืออยู่ในส่วนที่ถูกถมดำตรงบรรทัดไหน และหากไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวระบุเอาไว้ในสัญญา เหตุใดนายอนุทินจงกล้าพูดให้คำมั่นกับประชาชนว่าวัคซีนจะไม่มีวันถูกตัดคิว เป็นการโกหกประชาชนทั้งที่รู้อยู่ก่อนแล้วใช่หรือไม่ว่าไม่สามารถจำกัดการส่งออกได้ แต่ก็ยอมทำสัญญาฉบับนี้

เมื่อถามว่ามีกฎหมายใดที่จะสามารถบังคับให้ส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาตามกำหนดได้หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า มีอยู่ คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน แต่นายสาธิตก็ไม่ได้รับรองว่าจะได้ผลหรือไม่ ดังนั้น จึงมาปะติดปะต่อกับหนังสือแสดงเจตจำนงก่อนการทำสัญญา และดูเหมือนจะมีการตกลงหลักการที่ยอมให้มีการส่งออกโดยปราศจากข้อจำกัด

ซึ่งจากเงื่อนไขอุดหนุนวงเงิน 600 ล้าน มีประโยคในทำนองนี้ที่ให้อำนาจรัฐบาลในการจำกัดการส่งออกและให้สิทธิในการซื้อหรือรับมอบวัคซีนในสัญญาหรือไม่ ซึ่งจากสัญญาที่มีการถมดำยังไม่ปรากฏข้อความลักษณะดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลจะต้องชี้แจง

เมื่อถามว่าควรใช้กฎหมายที่มีอยู่ในมือหรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า คงต้องหารือกับแอสตร้าเซนเนกาว่าปัญหาเกิดจากอะไร และจำทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สุงสุดโดยที่ยังคำนึงถึงประเทศอื่นๆ ด้วย ต้องหาก่อนว่าเป็นความผิดของใคร ถ้าปรากฏว่าเป็นความผิดของรัฐบาลที่รู้ตั้งแต่แรกแล้วไปทำสัญญายอมรับเงื่อนไขของแอสตราเซเนกาก็ต้องให้ความเป็นธรรมแอสตราเซเนกาด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน