เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2564 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค นำทีมงานพรรคเขตบางกะปิ ลาดพร้าว วังทองหลาง กรุงเทพฯ และจ.ชลบุรี ร่วมกับชุมชนร่วมกันสร้าง ลาดพร้าว 101 แยก 40 เปิด “ศูนย์กล้าดูแล” นำร่องเป็นศูนย์แยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระดับสีเขียวออกจากครอบครัว ป้องกันการระบาดแบบทวีคูณ ตามที่เคยเสนอแนวคิดสถานกักตัวชุมชน Community Quarantine เพื่อยับยั้งการระบาดในชุมชน

โดยผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลโดยอาสาสมัคร บริการที่นอน อาหาร ยารักษาเบื้องต้น จนกว่าจะได้เตียงรักษาจากโรงพยาบาล และมีแผนจะร่วมกันทำในชุมชนต่อๆ ไปที่มีความพร้อม

นายกรณ์ กล่าวถึงมาตรการเยียวยาด้านเศรษฐกิจในสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลจำนวนกว่า 4 หมื่นล้านบาทว่า สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ แต่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความเดือนร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ เพราะส่วนใหญ่ต้องการให้บริหารจัดการที่สามารถกลับไปทำมาหากินและใช้ชีวิตปกติได้โดยเร็ว

หากเทียบกับงบประมาณและมาตรการเยียวยาปีที่แล้ว พบว่าวันนี้ประชาชนมีความเดือดร้อนมากกว่า แต่เม็ดเงินเยียวยากลับน้อยกว่าเดิม ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนคาดว่าน่าจะล่าช้าจากเดิมที่ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสสิ้นปี

รัฐบาลจึงต้องเตรียมเงินเยียวยาให้เพียงพอ จัดสรรให้ถูกต้อง รื้อแผนงบประมาณปี 2565 และงบพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่กู้มาเพื่อโควิดโดยเฉพาะ ต้องตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ได้รับผลโดยตรงจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะปฏิเสธภาระหน้าที่และความรับผิดชอบไม่ได้

มาตรการเยียวยาที่รัฐบาลจะเยียวยา 50% ของรายได้ สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม สูงสุด 7,500 บาท รัฐบาลสมทบอีก 2,500 บาท มองว่าเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้นเอง ซึ่งไม่เพียงพอถ้าเทียบกับโอกาสที่ประชาชนได้ออกไปทำมาหากินใช้ชีวิตปกติ มาตรการที่ช่วยเหลือ 1 เดือนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ขาดโอกาสทำมาหาค้าขายกว่า 1 ปีแล้ว จะมาชดเชย 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างที่มีก็ไม่เพียงพออีก

ฉะนั้นมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลทำได้ โดยไม่ต้องเจรจากับใคร เช่น ควรงดเว้นการจัดเก็บภาษีย้อนหลัง เพิ่มเงินสดที่อยู่ในมือผู้ประกอบการ ลดค่าใช้จ่ายทั้งภาษีทั้งค่าจ้าง ซึ่งพรรคกล้าเคยแนะนำมาโดยตลอด ให้รัฐช่วยออกเงินเดือนให้ครึ่งหนึ่ง 3-4 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนได้ จะได้ไม่ต้องปลดคนออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้และต้องเร่งทำ

นายกรณ์ ย้ำถึงมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลว่า เป็นมาตรการที่เจ็บแต่ไม่จบ เพราะมาตรการไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ตราบใดที่ยังไม่ลงไปตรวจให้ทั่วถึง แล้วแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อ หากไม่ทำแบบนี้ จะไม่มีทางลดอัตราการแพร่เชื้อลงได้ นี่คือสาเหตุที่มาของศูนย์กล้าดูแลที่พรรคกล้ามาทำร่วมกันกับชุมชนโครงการร่วมกันสร้าง เพราะการแยกชาวบ้านออกจากผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ เป็นวิธีการตัดวงจรการแพร่เชื้อ ช่วยชาวบ้านที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบรักษาพยาบาล หรือเข้าถึงเตียงในระบบสาธารณสุขได้ ลดภาระระบบสาธารณสุข ที่ตอนนี้หนักมาก

ขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งพรรคกล้าสนับสนุนระบบการบริหารจัดการ ปัจจัยต่างๆที่พี่น้องประชาชนร่วมบริจาคเพื่อให้เราสร้างศูนย์แบบนี้ขึ้นมา ตอบโจทย์ชุมชนเมือง เพราะที่อยู่อาศัย ไม่สามารถ Home Isolation หรือแยกตัวออกจากครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ติดเชื้ออยู่ห่างไกลจากครอบครัว ชาวชุมชนหรือสมาชิกครอบครัว สามารถทำอาหารมาส่งให้ที่หน้าศูนย์ ไม่มีความกังวลว่าต้องพลัดไปอยู่ศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามที่อยู่ห่างไกล ย้ำว่า พรรคกล้าพร้อมให้ความร่วมมือกับชุมชนที่สนใจทำโครงการนี้

นายกรณ์ ยังกล่าวถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยแรพิด แอนติเจน เทสต์ ที่พรรคกล้าเคยเสนอไปแต่แรกว่าต้องเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจตัวเองได้ว่า ตอนนี้รัฐบาลเริ่มผ่อนคลาย เริ่มยอมรับเรื่องการตรวจ แต่ไม่ให้ตรวจด้วยตนเอง ต้องไปตรวจที่ศูนย์ของราชการ ซึ่งมองว่าไม่สมเหตุสมผล

หากชาวบ้านมีอาการที่ส่อให้เห็นว่ามีโอกาสสูงที่อาจจะเป็นโควิด และตรวจด้วย แรพิด แอนติเจน เทสต์ ด้วยตนเองแล้วพบว่าผลเป็นบวก ทางราชการน่าจะยอมรับผลเพื่อนำเขาเข้าระบบรักษาพยาบาลได้ การบังคับไปตรวจที่ศูนย์อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น อย่ากลัวจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้น รู้ดีกว่าไม่รู้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน