ศรีสุวรรณ ร้อง กลต. สอบหมอบุญ ส่อมีพฤติกรรม ดีลวัคซีนทิพย์ หลัง ไฟเซอร์ บิออนเทค เซ็นดีลวัคซีน 20 ล้านโดส กับกรมควบคุมโรค

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่สำนักงาน กลต. ถนนวิภาวดี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อให้ตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมายกรณีการออกมาให้ข่าวของ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เกี่ยวกับดีลการเจรจาจัดหาวัคซีนทางเลือก 20 ล้านโดส ซึ่งอาจเป็น “วัคซีนทิพย์” เพื่อหวังผลสร้างกระแสความนิยมในหุ้นของบริษัทหรือไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า นพ.บุญออกมาให้ข่าวอย่างต่อเนื่อง กำลังดำเนินการลงนามจัดซื้อวัคซีน BioNTech ของเยอรมัน ชนิด mRNA เป็นตัวเดียวกับไฟเซอร์ และ Novavax ของอเมริกา ซึ่งสร้างความดีใจและความหวังให้กับคนไทยเป็นจำนวนมากที่หวังจะได้ใช้วัคซีนชนิด mRNA เพื่อนำมาป้องกันเชื้อโควิด-19 โดย นพ.บุญ ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะลงนามจัดซื้อได้ภายในเย็นวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีคำตอบใดๆให้กับสังคม

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในทางกลับกัน สื่อมวลชนหลายแขนงได้รายงานข่าวว่าบริษัทเตรียมเซ็นสัญญาซื้อวัคซีน BioNTech ของเยอรมนี จำนวน 20 ล้านโดส ทำให้ช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ค.64 ราคาหุ้นของธนบุรีเฮลท์แคร์กรุ๊ป จากราคา 29.75 บาทพุ่งขึ้นถึง 33.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 12.61 % เลยทีเดียว และสื่อต่างประเทศได้รายงานว่าการออกมาให้ข่าวดีลการซื้อวัคซีนดังกล่าวช่วยให้ราคาหุ้นของเครือธนบุรีเฮลท์แคร์กรุ๊ปดีดตัวขึ้น และมีมูลค่าด้านการตลาดเพิ่มขึ้นราว 1,500 ล้านบาทเลยทีเดียว

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ขณะเดียวกันมีการเผยแพร่อีเมลอย่างเป็นทางการจากบริษัท Pfizer Deutschland GmbH เรื่องสิทธิ์การจัดจำหน่ายวัคซีน โดยระบุว่า “เรายังคงร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการจัดหาวัคซีน Pfizer-BioNTech COVID-19 ให้ใช้ได้ทั่วประเทศไทย และเรากำลังอยู่ในช่วงปรึกษาหารือกับกรมควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น” ส่วนผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ยืนยันเช่นกันว่า ทางบริษัทมีการเจรจาเรื่องการส่งออกวัคซีนชนิด mRNA กับรัฐบาลไทยเท่านั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า บทสรุปของการดีลเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกของ นพ.บุญ ยังไม่มีใครทราบว่าจะออกมาทางใด แต่ที่แน่ๆ การออกมาให้ข่าวอย่างต่อเนื่องดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่น่าสงสัยว่าเป็นการสร้างกระแสความนิยมในหุ้นของบริษัทในเครือของตนหรือไม่ ทั้งที่กฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดบอกกล่าวเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งมีโทษหนักทั้งทางอาญาและหรือทางแพ่ง คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 1 ล้านถึง 5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ม.240 ม.242 ม.243 ประกอบ ม.296 วรรคสอง แห่งพรบ.ตลาดหลักทรัพย์ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำความมาร้องเรียนต่อ กลต.เพื่อขอให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังหากพบว่ามีการละเมิดกฎหมายของ กลต.เพื่อหวังผลการเพิ่มมูลค่าหุ้นของตนในตลาดหลักทรัพย์ บนความคาดหวังลมๆแล้งๆของคนไทยหรือไม่

อ่านต่อ ไฟเซอร์-บิออนเทคเผย เซ็นสัญญาซื้อขายวัคซีน mRNA 20 ล้านโดสกับกรมควบคุมโรคแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน