‘พิธา’ แฉ ทหารกองทัพบก มีถึง 2.6 แสนนาย แต่ปกป้องชายแดน-สนับสนุน กอ.รมน. เพียง 5.3หมื่นนาย เผยแผนปฏิรูปโครงสร้างกลาโหม ไม่มีความคืบหน้า

วันที่ 20 ก.ค.64 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจ Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ความว่า ทหารกองทัพบก 260,000 นาย มีเพียง 53,000 นายเท่านั้นที่ทำภารกิจหลักของกองทัพ คือป้องกันชายแดน และสนับสนุน กอ.รมน: ทวงถามแผนปฏิรูปโครงสร้างกลาโหม 2560-2569 ไม่คืบ

ในวาระการพิจารณางบประมาณของกองทัพบกในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ผมได้ตั้งข้อสังเกตต่องบประมาณด้านบุคลากรของกองทัพบก ซึ่งเป็นงบประมาณถึง 60% ของงบประมาณกองทัพบก และเมื่อพิจารณาของทั้งกระทรวงกลาโหมแล้วคิดเป็น 52%

สาเหตุที่ผมต้องตั้งข้อสังเกตต่องบบุคลากรของกองทัพบกก็เพราะศักยภาพของกองทัพในอนาคต 30 ปีข้างหน้า สามารถประเมินได้จากสัดส่วนงบประมาณบุคลากรต่องบทหารทั้งหมดในวันนี้ครับ จากวารสาร Foreign Affairs เมื่อเดือน พ.ย./ ธ.ค. 2020 ได้มีการวิเคราะห์ว่า ยิ่งงบกลาโหมในวันนี้มีสัดส่วนงบบุคลากรมาก ศักยภาพทางการทหารในอนาคต 30 ปีข้างหน้าจะยิ่งน้อยลง

เพราะงบประมาณในการป้องกันประเทศจะถูกเบียดบังด้วยงบการรักษาพยาบาล งบสวัสดิการ และงบบำเน็จบำนาญของทหารที่สูงอายุมากขึ้น หากงบทหารในวันนี้มีสัดส่วนงบบุคลากรน้อย ก็จะแสดงให้เห็นว่ากองทัพจะมีศักยภาพมากในอนาคต ซึ่งตัวอย่างที่บทวิเคราะห์นี้นำมาใช้ คือประเทศสหรัฐอเมริกาที่ 25% จีนที่ 31% และรัสเซียที่ 46%[1]

ในการวิเคราะห์ปัญหาโครงสร้างกำลังพลของกองทัพบก ผมได้เห็นข้อมูล “สถานภาพกำลังพลทหารบกเมื่อปี 2561” จากรายงาน “การปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบกให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี” ที่เผยแพร่โดยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

ซึ่งจากข้อมูลรายงานสถานภาพกำลังพลชุดนี้ พบว่ากองทัพบกมีการบรรจุอัตรากำลัง 260,000 นาย เป็นส่วนการรบและส่วนสนับสนุนการรบ 160,000 นาย ส่วนอีก 100,000 นายทำภารกิจ เช่น สารบรรณ การเงิน กฎหมาย สวัสดิการ ส่งกำลังบำรุง งานสัสดี ระดมพล ฯลฯ ซึ่งเป็นงานที่อาจจะใช้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมหรือภาคเอกชนทดแทนได้

นอกจากนี้ จากรายงานฉบับเดียวกัน ยังปรากฎข้อมูลว่า จากทหารกองทัพบกที่บรรจุอัตรา 260,000 นาย ทำหน้าที่ป้องกันชายแดนเพียง 25,000 นาย และทำหน้าที่สนับสนุน กอ.รมน 28,000 นาย สรุปว่ามีบุคลากรที่ทำหน้าที่หลักของกองทัพคือปกป้องชายแดนและรักษาความมั่นคงภายใน เป็นสัดส่วนเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับบุคลากรของกองทัพทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องลดจำนวนทหารให้เหลือแค่ 53,000 คน อย่างที่มีบางคนเข้าใจผิด เพียงต้องปรับโครงสร้างบุคลากรให้เหมาะสมมากขึ้นเท่านั้น

ผมเข้าใจดีว่ากระทรวงกลาโหมก็เห็นปัญหาโครงสร้างกำลังพลที่มากเกินความจำเป็น ในปี 2559 จึงได้มีแผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการและปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหม 2560-2569 เพื่อที่จะ ปรับลดอัตรากำลังพล ปรับปรุงโครงสร้างหน่วยรบ ยุบ ควบรวม หน่วยที่ไม่จำเป็น และปรับโอนงานให้เอกชน

ในการพิจารณางบประมาณผมจึงได้ทวงความคืบหน้าของการปฏิรูปโครงสร้างกลาโหมตามแผนจากท่านปลัดกระทรวงกลาโหม และขอรายงานสถานภาพกำลังพลทหารบกจากกรมกำลังพลทหารบก เพื่อติดตามความคืบหน้าของการปฏิรูปโครงสร้างกองทัพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน