อ.จุฬาฯ ไม่เห็นด้วย เสนอ พรก.นิรโทษบุคลากรสาธารณสุข ชี้ไม่เข้าเกณฑ์ ไม่มีความจำเป็น ข้อ 7 สะท้อน ผู้เสนอร่างกฎหมาย “มีเจตนาเช่นไร”

วันที่ 10 ส.ค.64 ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ การที่รัฐบาล เล็งออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. … ความว่า ในความเห็นของผม แน่นอนว่า นอกจาก ข้อ 7 (.บุคคล / คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน)

ซึ่งสามารถสะท้อนให้ได้ว่า ผู้เสนอร่างกฎหมาย “มีเจตนาเช่นไร” แล้ว ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ หากมีการประกาศใช้จริง อาจมีประเด็นของการไม่เข้าเกณฑ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม.172 ด้วย

กล่าวคือ ม.172 กำหนดเงื่อนไขสำหรับ ค.ร.ม. ในการออก พ.ร.ก.ไว้โดยสรุปอย่างน้อย 2 ประการได้แก่

1. ต้องเป็นกรณีจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนและหลีกเลี่ยงไม่ได้

“และ” 2. เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

คำถามคือ ร่าง พ.ร.ก. ที่กำลังจะนำเสนอฉบันนี้เข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อหรือไม่ หากถามผมๆ เห็นว่าไม่เข้าเกณฑ์ครับ เพราะไม่ใช่กรณีที่มีความจำเป็นฉุกเฉินถึงขนาดหลีกเลี่ยงไม่ได้ขนาดนั้น และ เนื้อหาสาระของ ร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ (ทุกข้อ รวมถึงข้อ 7 ด้วย) ก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นได้ถึงขนาดว่าออกมาเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะอย่างชัดเจน

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ในรูปแบบของ พ.ร.ก. เพราะเป็นการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ พ.ร.ก. เป็นเครื่องมือ (กฎหมาย) ของรัฐบาลที่จะใช้ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนมากจริงๆ

ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ผมเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลเองก็มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้อยู่แล้วซึ่งก็มีโครงสร้างของบทคุ้มครองความผิดเจ้าหน้าที่ๆ ปฏิบัติทำนองเดียวกัน เหตุใดถึงต้องเสนอกฎหมายฉบับนี้?

อย่างไรก็ดี หากยังคงยืนยันว่าต้องการออกกฎหมายฉบับนี้จริง รัฐบาลก็พึงต้องเสนออยู่ในรูปแบบของกฎหมายปกติอย่าง พ.ร.บ. ที่ต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบของรัฐสภาตามกระบวนการต่อไปครับ

อนึ่ง ขอย้ำอีกครั้งว่าโดยส่วนตัว ไม่เห็นถึงความจำเป็นในการออกกฎหมายฉบับนี้ครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน