อัยการชี้ ไม่เข้าเงื่อนไขรธน. ค้านออก พรก.นิรโทษวัคซีน ชี้มีพรบ.รับผิดละเมิดคุ้มครองจนท.อยู่แล้ว ระวังกระทบสิทธิ์ผู้ป่วย

อัยการ ชี้พ.ร.ก.นิรโทษวัคซีน ขัดรธน.- นายธนกฤต วรธนัชชากุล ผอ.สำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นเรื่อง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งต้องให้ความคุ้มครองบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า แต่ขอให้ข้อสังเกตที่เป็นความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมาย

1. รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดถึงเหตุความจำเป็นการออกพ.ร.ก. ต้องเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และกระทำได้เมื่อครม.เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นรีบด่วนมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การออกพ.ร.ก.ดังกล่าว น่าจะยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ

2. พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตไว้แล้ว กรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐต้องเป็นผู้รับผิดต่อผู้เสียหาย จะฟ้องเจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดไม่ได้

และหากเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดไปโดยไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หน่วยงานรัฐไม่มีสิทธิจะเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนรัฐได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.นี้

ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ประเภท ระดับ อำนาจหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบและข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการ พ.ศ.2562 ข้อ 5 (9) กำหนดให้ต้องดำเนินการให้ผู้ปฏิบัติการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

3.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 มี.ค.2563 กำหนดให้ผู้ป่วยโควิด 19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาล และตามพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 มาตรา 28 กำหนดหลักการคุ้มครองความปลอดภัยผู้ป่วยฉุกเฉินไว้

อีกทั้งมีประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ประเภท ระดับ อำนาจหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการ พ.ศ.2562 ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินฯ มาตรา 29 (1) คุ้มครองความปลอดภัยผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองในมาตรา 28 ดังนั้น หากจะออกพ.ร.ก.ควรพิจารณาว่า จะมีผลกระทบต่อหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินดังที่กล่าวไปหรือไม่

4.หากมีกรณีที่เกิดข้อจำกัดทางด้านบุคลากร ทรัพยากร เวชภัณฑ์ วัคซีนหรือเรื่องอื่นใด ที่ทำให้เป็นข้อจำกัดหรือเป็นอุปสรรคในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจากโควิด 19

การปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินฯ 2562 หรือการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 19 เป็นการเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ฯ มาตรา 28 ก็อาจเป็นเรื่องที่ควรมาพิจารณาด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน