คณาจารย์นิติศาสตร์ ออกแถลงการณ์ จี้ยกเลิกข้อห้ามชุมนุม-อย่าใช้อาวุธสลายม็อบ ย้ำเป็นสิทธิเสรีภาพประชาชนเรียกร้องรัฐบาลใหม่ แก้ไขโควิด

วันที่ 19 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 79 คน ออกแถลงการณ์เรื่อง การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิด-19 โดยมีเนื้อหาระบุตอนหนึ่งว่า

เหล่าคณาจารย์นิติศาสตร์ มีความกังวลต่อการประกาศข้อกำหนดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการบังคับใช้ที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้

1.ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทย ได้รับการรับรองเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของควิด-19 รัฐก็ไม่อาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกได้ หากแต่ต้องกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยประชาชนยังคงใช้เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้

การออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 15 และฉบับที่ 30 ซึ่งห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และการต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งที่บุคคลสามารถใช้เสรีภาพได้ตราบเท่าที่ไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่อาจใช้เป็นฐานจำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนได้

2.เมื่อประชาชนเห็นว่า การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และล้มเหลว เป็นเหตุให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประชาชนยังคงได้ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพและล้มเหลว และย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือผู้รับผิดชอบ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น

แม้การชุมนุมจะฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากการชุมนุมยังคงเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุมดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ รัฐย่อมมีหน้าที่ต้องเคารพเสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในชีวิตร่างกาย ต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองได้

หากแต่ปรากฏว่า รัฐกลับใช้กำลังในการสลายการชุมนุมทุกครั้งที่มีการชุมนุมเกิดขึ้น โดยมิได้พิจารณาว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่ มีการยิงแก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยาง รวมถึงการใช้กำลัง จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสหลายราย โดยการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนในการสลายการชุมนุม แม้มีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ใช้กำลังตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอในการเข้าสลายการชุมนุมโดยทันที

อีกทั้งการใช้มาตรการสลายการชุมนุมก็มีลักษณะเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัดแจ้งว่า การห้ามการชุมนุมหรือการสลายการชุมนุมในแต่ละกรณีนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันโรคระบาดอย่างแท้จริง หากแต่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง เพื่อขจัดการแสดงออกของผู้ที่เห็นต่างในทางการเมืองและวิพากษ์การทำงานของรัฐเสียมากกว่า

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณาจารย์นิติศาสตร์จึงขอเรียกร้องให้รัฐดำเนินการ ดังนี้

1.รัฐต้องยกเลิกข้อกำหนดที่ห้ามการชุมนุมในลักษณะทั่วไปที่ให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่มากเกินสมควร และทำให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมไม่อาจเป็นไปได้โดยสิ้นเชิง หากจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการชุมนุม จะต้องเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างแท้จริง โดยต้องเปิดโอกาสให้การใช้เสรีภาพดังกล่าวยังเป็นไปได้ด้วย

2.รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ การสลายการชุมนุมเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะต้องใช้ในกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น และการใช้มาตรการห้ามการชุมนุมต้องเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น มิใช่เพื่อเหตุผลทางการเมือง

3.องค์กรตุลาการจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างจริงจัง โดยยึดมั่นในหลักนิติธรรม เพื่อมิให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจและเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน