‘ทวี’ วิเคราะห์ตรงๆ แก้รัฐธรรมนูญ วาระ 2 อ่านใจ ส.ว.ก่อนลงคะแนน ไม่ฟันธง รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่ ยันจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง

วันที่ 23 ส.ค.64 ไอลอว์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านทางเฟซบุ๊ก iLaw ความว่า “การแก้ระบบเลือกตั้งในครั้งนี้อย่าให้ประชาชนเสียเปรียบ” คุยกับ ทวี สอดส่อง ก่อนศึกการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 2

ท่ามกลางความร้อนแรงของการเมืองบนท้องถนน ศึกการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสองกำลังจะมาถึงในวันที่ 24-25 สิงหาคมนี้ แม้ว่าในวาระแรกเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมากถึง 13 ร่างโดยมีเนื้อหาตั้งแต่การตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายรัฐมนตรี ล้างมรดก คสช. ไปจนถึงการกระจายอำนาจและสร้างหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า

แต่ร่างเดียวได้รับความเห็นชอบจากสภาและได้รับเสียง ส.ว. เกิน 1 ใน 3 ก็คือร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้งจากที่ใช้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 กลับไปเป็นระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบที่คล้ายคลึงกับที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

แม้ว่าสำหรับผู้ชุมนุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะน่าผิดหวังเพราะไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องข้อใดเลย แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าจับตาในหลายประเด็น ตั้งแต่การยื่นญัตติของพรรคก้าวไกลให้พิจารณาว่าร่างของกรรมาธิการนั้นขยาย “เกิน” หลักการที่ระบุไว้ในร่างที่ผ่านวาระแรกหรือไม่

บทบาทของ ส.ว. ว่าจะเป็นเช่นไร รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งได้หรือไม่

ไอลอว์ ชวน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มาพูดคุยเพื่อตอบคำถามข้างต้น ทวี เป็นคนหนึ่งที่เคยออกมาให้ความเห็นสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชนทั้งฉบับ

โดยในวาระแรกเขาโหวตให้ความเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่างยกเว้นร่างของพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะการ “ปะผุ” ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ในวาระ 2 นี้ ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคประชาชาติจะมีความเห็นอย่างไร

มีความคาดหวังอย่างไรในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้?

“ต้องบอกก่อนว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความต้องการประชาชน ถ้าตอบให้ชัดเจน สิ่งที่ประชาชนต้องการคือร่างฉบับประชาชนที่ไอลอว์เป็นผู้เสนอเมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญนั้นเป็นมากกว่าการเลือกตั้ง มากกว่าฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร แต่รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการทำให้คนมีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำอย่างไรให้คนได้มีส่วนร่วม ใช้สติปัญญาและจินตนาการอย่างเสรีเพื่อกำหนดทิศทางอนาคตข้างหน้า”

“แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เราเห็นตรงกันว่า เราต้องทำให้โครงสร้างอำนาจสมดุลและจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรให้ยุติธรรม ดังนั้น เราหนีไม่พ้นต้องแก้รัฐธรรมนูญโดยจำเป็นต้องมี สสร. ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการจัดทำ เพราะจะทำให้เกิดความรักหวงแหนและความเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญคือทำให้ทุกภาคส่วนได้นำสิ่งต่าง ๆ มาอยู่ในภายใต้กติกาของบ้านเมือง”
.
“มนุษย์ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ต้องการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่วันนี้บ้านเมืองเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ความยุติธรรมยังไม่บังเกิด โดยความอยุติธรรมที่ใหญ่ที่สุดคือที่มาจากกฎหมายซึ่งมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด สิ่งที่เราต้องทำคือการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตย

ดังนั้นผมจึงเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความต้องการของประชาชน แต่มาจากผู้ที่มีอำนาจอยู่ในมือ ถ้าจะผ่านก็อาจจะผ่านเพราะไม่ได้แก้ด้วยเหตุผลของประชาชน แต่มาจากผลประโยชน์ในการรักษาอำนาจไว้”

คิดเห็นอย่างไรกับประเด็นที่ว่า ร่างที่ผ่านชั้นกรรมาธิการอาจจะไปแก้ไขมาตราอื่นเกินหลักการที่วางไว้?

“ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่เรารับหลักการมานั้นให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 กับ มาตรา 91 แต่เนื่องจากมาตรา 83 ที่กรรมาธิการแก้มากำหนดให้มี ส.ส. เขต 400 คนและปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน แล้วมาตราอื่นของรัฐธรรมนูญระบุ ส.ส. เขต 350 คนและปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่รัฐธรรมนูญจะขัดกันเอง

ดังนั้นเรามีข้อบังคับไว้ว่าอาจจะแปรญัตติเพิ่มได้ถ้ายังสอดคล้องกับหลักการของร่าง ผมคิดว่ากรรมาธิการเสียงข้างมากคงจะตีความอย่างกว้าง เนื่องจากเรายังไม่ได้มีการวินิจฉัยไว้อย่างแน่นอน อีกประการหนึ่งเราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เกิดมาโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม”

“ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเราจะใช้ข้อบังคับของรัฐสภา ซึ่งมีความแตกต่างกับข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรข้อ 125 ระบุว่าการแปรญัตติเพิ่มเติม ขึ้นใหม่ หรือตัดทอนหรือแก้ไข ต้องไม่ขัดกับหลักการในพระราชบัญญัติ

แต่พอเป็นข้อบังคับของรัฐสภาซึ่งจัดทำโดย ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกัน ก็พบว่ามีการเพิ่มข้อความว่า ‘เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวข้องกับหลักการนั้น’ ขึ้นมาด้วย ในกรณีเช่นนี้ เสียงข้างมากอาจจะเห็นว่าสามารถใช้ข้อนี้ในการแก้ไขมาตราอื่นเพิ่มเติมได้”

“ปัญหาก็คือหลักการของร่างประชาธิปัตย์ ระบุเลขมาตราไว้อย่างชัดเจนจึงทำให้ถ้าจะตีความในมุมแคบก็ต้องแก้ตามเลขมาตราที่ระบุเท่านั้น แต่ก็มีแนวคิดของเสียงข้างมากว่าถึงแม้จะระบุหมายเลขมาตรามา แต่ข้อบังคับก็ยกเว้นให้เพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้นแนวความเห็นตรงนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ และมีการยื่นญัตติให้พิจารณา”

“อย่างไรก็ตาม ตามหลักการแล้ว ถ้าเราไม่มองเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเกินไปและเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ถ้าแก้เป็นบัตร 2 ใบ และมีจำนวน ส.ส. เขต 400 คนและปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ถูกต้องหรือไม่ก็ต้องไปพิจารณากัน แต่อยากให้ทุกคนอยากให้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง

สำหรับส่วนตัวผมมองว่าแก้หรือเลือกตั้งใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนเรียกร้อง ส่วนการจะขยายไปที่มาตราอื่นก็ต้องมาพิจารณากันต่อไป แต่ที่สำคัญคือแก้แล้วใครได้ประโยชน์ ประชาชนหรือนักการเมือง”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งกันภายในฝ่ายค้านไหม?

“แม้แต่ในครอบครัวก็มีโอกาสที่จะเห็นไม่ตรงกันได้ ผมคิดว่าการเห็นไม่ตรงกันในฝ่ายค้านอาจจะมองเป็นการพัฒนาก็ได้ ตราบใดที่ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งและเอาประโยชน์ของสาธารณะมาตั้ง มันก็น่าจะมีส่วนที่พูดคุยกันได้ เบื้องต้นพรรคก้าวไกลก็เห็นด้วยกับบัตรสองใบ ผมในฐานะฝ่ายค้านและคนกลางระหว่างสองพรรคก็ยืนยันว่าไม่ว่าอย่างไรจะต้องยุติธรรม โดยต้องยึดประชาชนก่อน”

“ไม่ว่าอย่างไรเสีย เราต้องอย่าลืมว่าเรามีการเลือกตั้งมาหลายรูปแบบ ไม่ว่ารูปแบบไหนก็ไม่ได้สมบูรณ์ทั้งหมด มีบางส่วนได้ประโยชน์ก็ต้องมีบางส่วนที่เสียประโยชน์ โดยการแก้ระบบเลือกตั้งในครั้งนี้ก็อาจจะทำให้พรรคเล็กหรือพรรคขนาดกลางเสียเปรียบ แต่ที่สำคัญต้องอย่าให้ประชาชนเสียเปรียบ”

“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมเองที่อ่านร่างมา ผมไม่เห็นด้วยกับการตีเช็กเปล่าให้ กกต. ร่างที่ผ่านกรรมาธิการเสนอให้แก้มาตรา 91 ซึ่งบอกว่าการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ให้นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณแบ่งจำนวนผู้ที่ได้รับการคัดเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนรวมข้างต้น

แต่ถ้าเราทิ้งไว้แค่นี้มันก็จะมีส่วนที่เรียกว่าเศษเช่นเดิม สมมติว่าคำนวณออกมาแล้วสองแสนคะแนนได้ ส.ส. 1 คน แต่พอเอาสองแสนมาหารคะแนนรวมทั้งหมดก็จะได้ ส.ส. แค่ 80 คน ทำให้ยังเหลืออีก 20 คน ถ้าเราปล่อยให้ กกต. มีอำนาจมากำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเองในกรณีเช่นนี้ ผมคิดว่าเราก็จะกลับมาทะเลาะเบาะแว้งกันอีก ทำไมเราไม่เขียนให้ชัดไปเลยว่าคะแนนเศษที่เหลือนี้ ให้ถือเกณฑ์เรียงลำดับคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากมากไปน้อย แบบนี้ก็จะทำให้ กกต. ไม่สามารถไปกำหนดหลักเกณฑ์ตามอำเภอใจได้”

มองบทบาทของ ส.ว. ในการลงมติทั้งในวาระ 2 และ 3 ไว้อย่างไร?

“อดีตเป็นบทเรียนที่สำคัญ คือ ส.ว. นั้นสามารถสั่งได้ ถ้าเขารู้ว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาทำไมเขาไม่รับร่างของพรรคเพื่อไทยเพราะเราจะได้ไม่ต้องมาตีความกันในชั้นกรรมาธิการ หรือทำไมเขาไม่รับร่างของพรรคพลังประชารัฐเพราะเราจะได้ไม่ต้องมาเถียงกันในเรื่องหลักการ จะเห็นได้ว่า ส.ว. เขาก็รับตามใบสั่ง

ดังนั้นในวาระสามก็คงเป็นการยากที่จะเดาใจได้ ต้องยอมรับว่า ส.ว. เป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ในการลงมติครั้งนี้ ส.ว. อาจจะไม่ได้คิดอะไรมากเท่าครั้งที่แล้วเพราะไม่ได้ไปยกเลิก ส.ว. เขาอาจจะถือว่าเป็นการสงเคราะห์ให้ฝ่ายประชาธิปไตยเล็ก ๆ น้อย ๆ ไป ส่วนตัวเองก็ยังมีอำนาจเหมือนเดิม ถามว่าคาดหวังไหม ผมไม่คาดหวังเลย แล้วก็ไม่มั่นใจด้วยว่า ส.ว. จะออกอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเขาก็ฟังคำสั่งซึ่งก็มักจะมาในชั่วโมงสุดท้ายก่อนการโหวตเสมอ”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ไหม?

“การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เขาไม่ได้มองมาที่ประชาชนหรือผู้ชุมนุม เขาเห็นแค่การแก้ปัญหาทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล พอมีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ ก็จะทำให้เขามีอำนาจมากขึ้นผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้ฟอกตัวเองได้ แต่สิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการคือการให้ทุกคนอยู่ในหลักสิทธิเสรีภาพและมีอนาคตที่ดี การตื่นรู้ของประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่คนในสภาต้องเข้าใจ พอเราไม่ตอบรับเสียงเรียกร้องของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง สภาเองก็จะอยู่ยาก

วันนี้ประชาชนอาจจะผิดหวังกับรัฐบาล แต่อย่างน้อยต้องขอให้ฝ่ายค้านอย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง ไม่ว่าสังคมจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย การมีสัจจะกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ พรรคการเมืองหลายพรรคไปหาเสียงกับประชาชนโดยโกหกซ้ำ ๆ ทางกลุ่มพรรคฝ่ายค้านก็ไม่ควรทำให้นักต่อสู้เสียกำลังใจ วันนี้พรรคการเมืองฝ่ายค้านอาจจะเถียงกันนอกพรรคแรงไปหน่อย”

คิดว่าถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบ จะมีโอกาสที่รัฐบาลยุบสภาไหม?

“ถ้าเราดูแค่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาเขียนไว้ว่าถ้าร่างนี้ผ่านให้ไปทำกฎหมายประกอบภายใน 120 วัน แต่ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อน ก็ให้ กกต. จัดทำหลักเกณฑ์วิธีการเลือกตั้งก่อนได้เลยโดยไม่ต้องเป็นกฎหมาย แบบนี้ก็หมายความว่าก็อาจจะยุบสภาได้ ผมก็สงสัยการร่างเป็นอย่างมาก ต้องยอมรับว่ากลุ่มที่ร่างเป็นกลุ่มของพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เราก็ควรจะเขียนไว้ว่าไม่ให้ กกต. ตีความจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์จากคะแนนที่เหลือจากการหารคะแนนที่พึงมีเอง ควรจะเขียนให้ชัดเจนว่าให้เรียงลำดับจากคะแนนสูงที่สุดลงไป”

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อาจจะมีปัจจัยภายนอกด้วย ปัจจัยหนึ่งก็คือประชาชนล้มตายทุกวัน โดยสาเหตุก็มาจากการที่รัฐบาลพลาดเองในเรื่องของวัคซีน ดังนั้นนี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจอยู่ในอำนาจเผื่อโชคช่วยว่าโควิดหายเร็วแล้วจะได้คะแนนเสียงกลับมา”

มองบทบาทของรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นไว้อย่างไร?

“วันนี้เราอยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าเป็นประชาธิปไตยก็ได้ อาจจะเป็นเพียงสนามหนึ่งที่วางกติกาการแย่งชิงผลประโยชน์ บางทีอาจจะเขียนรัฐธรรมนูญดีแต่บ้านเมืองไม่ได้เป็นประชาธิปไตยก็ได้

แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือวันนี้ประชาชนตื่นตัวมาก ถ้าโดยเร็วที่สุดเราก็ควรจะผลักดันกฎหมายประชามติให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมา จะช้าจะเร็วอย่างน้อยก็เป็นการวางรากฐานให้กับประเทศ”

“ตอนนี้เราต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ เพราะทุกวันนี้พอเกิดวิกฤตขึ้นมา ประชาชนทั้งประเทศต้องเจอกับความทุกข์ระทมมากเพราะโครงสร้างของประเทศที่ยังเป็นระบบราชการที่ไว้ใจคนอื่น

นายกรัฐมนตรีคนนี้ก็ไว้ใจแต่ข้าราชการและรวมอำนาจหมดเลย ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับในสติปัญญาของประชาชนที่จะตื่นรู้และห่วงแหนสิทธิเสรีภาพของตนเอง เราคงคาดหวังรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมาร่วมกันทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยให้ได้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน