ฝ่ายค้านซัดกันเอง ปมโหวตญัตติของก้าวไกล ก่อนถูกตีตก ‘ชวน’สั่งเลื่อนประชุมร่วมรัฐสภา ถกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรธน.ฉบับใหม่ พรุ่งนี้

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ… เสนอโดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เนื่องจาก กมธ.ได้พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 83 และ 91 เกินเลยไปจากที่รับหลักการเอาไว้ และมีมติเพิ่มบทบัญญัติใหม่ด้วย ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ

จึงขอให้สภา วินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 114 วรรคสองและข้อ 124 เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ข้อบังคับต่อไป

ต่อมาเวลา 17.10 น. หลังจากสมาชิกรัฐสภาอภิปรายครบแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติ ปรากฏว่านายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สอบถามว่าการลงมติในญัตติของนายธีรัจชัย จะยึดข้อมูลตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในฉบับเดิมที่ยังไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขใช่หรือไม่ และขอดูร่างแก้ไขฉบับใหม่ที่ กมธ.แก้ไขเสร็จแล้ว แต่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกมธ. ปฏิเสธที่จะให้ดู อ้างว่ายังไม่ถึงวาระการพิจารณา จึงให้ดูเนื้อหาไม่ได้

ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามว่าจะลงมติโหวตกันอย่างไร เพราะญัตติของนายธีรัจชัย เขียนแบบกว้างๆ เพราะไม่รู้ว่าญัตติต้องการถามว่า กมธ.เสียงข้างมากปฏิบัติหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญเกินเลยจากหลักการ หรือต้องการกล่าวหากมธ. ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อ 124 ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายหรือหลักนิติธรรมหรือไม่ ถ้าเป็นกรณีนี้ รัฐสภาไม่มีอำนาจวินิจฉัย ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และถ้าญัตติไม่สมบูรณ์เช่นนี้ สภาก็ไม่จำเป็นต้องโหวต

ทำให้นายธีรัจชัย ตอบโต้ด้วยความไม่พอใจว่า มีผู้พยายามบิดเบือน เบี่ยงเบนประเด็นให้ญัตติตกไป โดยไม่ต้องลงมติ

นายไพบูลย์ จึงเสนอว่าเมื่อหลายคนอยากเห็นเนื้อหาร่างแก้ไขใหม่ ก็จะแจกให้สมาชิกไปอ่าน เพื่อทำความเข้าใจแล้วค่อยมาตัดสินใจลงมติญัตติอีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค.

ทั้งนี้ หลังจากถกเถียงนาน 1 ชั่วโมง ในที่สุดนายชวน ยืนยันให้เดินหน้าลงมติญัตติของนายธีรัจชัย โดยตั้งคำถามว่าเห็นด้วยกับญัตติของนายธีรัจชัย ในการกล่าวหากมธ.หรือไม่ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วยด้วยคะแนน 374 ต่อ 60 งดออกเสียง 193 ไม่ลงคะแนน 4

ต่อมาเวลา 18.15 น. เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 เรื่องระบบเลือกตั้ง โดยนายไพบูลย์ กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลของการเสนอแก้ไขที่กมธ.ได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาใหม่ เมื่อช่วงเช้าและขอให้นำข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 37 มาบังคับใช้โดยอนุโลมกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่กมธ.ได้เสนอไว้

นายชวน เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ ว่ามีใครยังติดใจประเด็นใดหรือไม่ แต่ไม่มีใครติดใจ นายชวนจึงสั่งเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 25 ส.ค. และปิดประชุมเวลา 18.25น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน