กสม. ระดมความเห็นสิทธิเด็ก แอมเนสตี้ ย้ำรัฐอย่ามองเด็กเป็นคู่ต่อสู้ ไอลอว์ ชี้สามเหลี่ยมดินแดงไม่ใช่จลาจล แนะแก้ปัญหาไม่ใช่ด้วยการดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2564 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดระดมความคิดเห็น : สิทธิเด็กกับสถานการณ์การชุมนุม(กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) โดยมีผู้ร่วมประชุม ทั้งนักสิทธิเด็กและเยาวชน ผู้ร่วมชุมนุม

โดยนายโยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่สามเหลี่ยมดินแดง เกิดจากทั้งสถานการณ์การเมือง และโรคระบาด ซึ่งเด็กที่ออกมา ส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ซึ่งสถานการณ์โควิดทำให้เขาไม่สามารถทำงานได้ บวกกับสถานการณ์การเมืองที่ไปกดทับเขา ทำให้เกิดเป็นระเบิดเวลา เป็นความรุนแรง ซึ่งการแก้ปัญหา ทางสภาเด็กฯ ขอเสนอแนะช่องทางที่จะรับฟังเสียง ต้องไม่ใช่แค่กลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ถ้าจะไปสภา ก็อยากหัวหน้าหรือผู้บริหารสูงสุดออกมารับฟัง

นางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า นี่คือสิทธิหนึ่งที่เด็กควรได้ใช้ ก่อนการชุมนุมเราเห็นแล้วว่า มันมีความโกรธ ไม่มีใครฟังเขา จึงทำให้ออกมา มีการใช้กำลังกันไปมาทั้งตำรวจและผู้ชุมนุม มีการจับกุมดำเนินคดี ซึ่งเราเไม่อยากให้เด็กอยู่ในห้องขัง จึงอยากขอให้เจ้าหน้าที่จับแล้วไม่ให้เด็กอยู่ในห้องขังจะได้หรือไม่

“ถึงแม้ว่าเขาจะใช้ความรุนแรง แต่เขาก็เป็นเด็ก ดังนั้น เราต้องให้พื้นที่เขา ฟังเขาสื่อสารบ้าง ที่สำคัญการจะเอาเจ้าหน้าที่ตำรวจมารับผิดรับชอบในสิ่งที่ทำเกินหน้าที่ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เด็กหลายคนโดนตำรวจถีบตกรถ หรือโดนรุมซ้อม อันนี้ไม่ใช่เมืองอันธพาล แน่นอนเด็กใช้ความรุนแรง แต่ควรมีวิธีการในฐานะผู้มีอาชีพรักษาความสงบ รัฐไม่ควรมองเด็กคือคู่ต่อสู้” นางปิยนุช กล่าว

ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า สถานการณ์ทุกวันนี้ตึงเครียดมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สาเหตุปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตำรวจใช้กระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา แต่คนอายุน้อยเขาเรียนออนไลน์มายาวพอสมควร พอเรียนแล้วไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไรต่อ ไม่มีความหวังที่รออยู่ข้างหน้า เมื่อมีการชุมนุม จึงไม่แปลกที่เขาจะออกไปร่วม

ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวว่า เราต้องมองสมรภูมิดินแดงที่เกิดขึ้นใน 2 มิติ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับตน มันไม่ใช่การจลาจล แต่เป็นการชุมนุมทางการเมือง เพราะมีข้อเรียกร้องชัดเจนคือ ขับไล่รัฐบาล แม้จะชุมนุมที่ไม่สงบ มีอาวุธ แต่ก็ยังเป็นการชุมนุมทางการเมือง และต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง ไม่ใช่ด้วยกำลัง แม้เขาจะใช้ความรุนแรง แต่เบื้องหลังความรุนแรงมันมีที่มา และพวกเขายังมีความเป็นมนุษย์อยู่ ดังนั้น เมื่อเราอยากยุติความรุนแรง เราต้องแก้ปัญหา ไม่ใช่ด้วยการไปจับกุมหรือดำเนินคดีกับเขา

น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. กล่าวว่า เด็กมีสิทธิในการแสดงออก และผู้ใหญ่ควรเปลี่ยนมายเช็ท โดยเฉพาะผู้บริหารที่จะจัดการกับม็อบหรือเด็ก เพราะความรุนแรงมันยิ่งจะทำให้เกิดความรุนแรง ไม่ได้จะทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น และเราต้องมีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก และเมื่อจับกุมเด็กได้ก็อยากให้เขาได้คุยกับคนที่มีความเชื่อใจ รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน