วิษณุ อุบหน่วยงานใหม่ แทนศบค. รอดูพ.ร.บ.โรคติดต่อ เผยคืนอำนาจให้สธ.บางส่วน บิ๊กตู่ ยังคุมแก้โรคระบาดร้ายแรง ชี้สมช.คุมแก้โควิด เหตุแพทย์ตีกันเอง

วันที่ 9 ก.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งหน่วยงานขึ้นมาแทน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. ว่า ยังไม่เห็นพ.ร.บ.โรคติดต่อที่กำลังแก้ไข แต่เราจะมีกฎหมายใหม่ ซึ่งมีหมวดพูดถึงสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเฉพาะ แยกออกมาจากพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อแยกออกมาแล้วก็ไม่ต้องไปยุ่งกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และศบค.ก็อยู่ไม่ได้ จะมีหน่วยงานใหม่ ตนไม่รู้และยังไม่ถึงเวลาจัดตั้ง

เมื่อถามว่าเป็นการมอบอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุขไปจัดการเรื่องโควิดใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเวลาไม่มีอะไร หรือมีโรคติดต่อธรรมดาเกิดขึ้น จะมีรมว.สาธารณสุขเป็นประธาน แต่เมื่อมีโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงเกิดขึ้นและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข นายกฯจะเข้ามาเป็นประธานแทน ส่วนรมว.สาธารณสุขอาจไปเป็นรองประธาน อย่างไรก็ตาม นายกฯจะเข้าประชุมหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องบูรณาการการทำงาน

นายวิษณุ กล่าวว่า เราเรียนรู้มาตลอด 1 ปีเศษว่า เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เช่น โควิด -19 จะมีความเป็นเชิงวิชาการขัดแย้งแตกต่างกัน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ ศบค.ต้องใช้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) การที่สภาบอกว่าไปเอาทหาร หรือฝ่ายความมั่นคงเข้ามา ทำไมไม่ใช้หมอ ก็เพราะใช้หมอไม่ได้ หมอทะเลาะกันหมด ระหว่างแพทย์มหาวิทยาลัย แพทย์กระทรวงสาธารณสุขก็มีความเห็นคนละอย่างกัน

อีกทั้งเมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรง จำเป็นต้องใช้กำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร ต้องใช้ผู้บัญชาการสูงสุด ไม่เช่นนั้นทุกคนหนีหมด ตนเคยขอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นเลขานุการ ศบค. ท่านก็ไม่รับเพราะต้องทำงาน หากมาเป็นเลขาฯศบค. ตอนเช้าอาจต้องคุยกับผู้ว่าฯกทม. คณบดีแพทย์ ไม่ต้องทำอย่างอื่นแล้ว เพราะหน้าที่ปลัดกระทรวงคือการไปตรวจงานต่างจังหวัดและโรงพยาบาล ต้องใช่ชุดขาว

แต่เลขาฯสมช.มาทำสิ่งเหล่านี้ได้เพราะมีประสบการณ์ ยกหูโทรศัพท์ขอเฮลิคอปเตอร์ ขออะไรต่ออะไร และต้องประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเพียงนิดเดียวกระทบความสัมพันธ์ได้

ฉะนั้น เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ต้องจัดระบบใหม่หมด จะเรียกว่าคืนอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุขก็คืนได้ส่วนหนึ่ง แต่นายกฯ ก็เข้าไปมีส่วนอยู่

เมื่อถามว่านายกฯ จะนั่งเป็นประธานหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า นายกฯเป็นประธาน แต่จะนั่งหรือไม่ หรือมอบรองนายกฯก็ได้ เมื่อถามว่าจะเร่งรัดออกกฎหมายใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องรอฟังสำนักงานคณะกรรมการกฤฎีกาว่ามีกี่มาตรา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน