ไอลอว์ ฟ้อง ประยุทธ์และพวก ขอศาลแพ่ง สั่งเพิกถอนข้อกำหนดมาตรา 9 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมเรียกค่าเสียหาย 4.5 ล้าน เผยถูกดำเนินคดีกว่า 483 คดี

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 ต.ค.2564 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) นางชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนกลุ่มเฟมินิสด์ปลดแอก และนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ แนวร่วมม็อบคณะราษฎร ได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับพวก กรณีออกประกาศข้อกำหนดในมาตรา 9 ตามพ.ร.ก.การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เรียกค่าเสียหาย 4,500,000 บาท และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าว

คำฟ้องระบุว่า โจทก์ทั้งสามคนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ จากการร่วมปราศรัยในการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อ 24 มี.ค. 2564 ซึ่งข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว เป็นการจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รัฐสามารถจำกัดสิทธิ์บางอย่างได้ แต่ไม่ใช่การสั่งห้ามชุมนุม และการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เพื่อควบคุมโรคระบาด ไม่ใช่เพื่อห้ามการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน แม้จะไม่ใช่สถานที่แออัด ไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ทุกครั้งที่จัดการชุมนุม ผู้จัดและผู้ปราศรัยจะถูกดำเนินคดี ข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามมาตลอด จนขณะนี้มีคดีมากกว่า 483 คดี มีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดี มากกว่า 1,171 คน

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า เราเห็นว่าข้อจำกัดที่ห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น กว้างขวางและจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินไป จึงมาฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้เพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หมายความว่าให้ศาลสั่งว่าข้อกำหนดและคำสั่งไม่เคยมีมาตั้งแต่แรก และให้มีผลย้อนหลัง จะทำให้คดีต่างๆ ของผู้ชุมนุมให้มีอันถูกยกเลิกไปด้วย ถ้าการชุมนุมผิดกฎหมายอย่างไร ก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายได้ ทั้งประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ควบคุมดูแลการชุมนุมได้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร มีการใช้ความรุนแรงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นายยิ่งชีพ กล่าวว่า คนละประเด็นกัน แต่ก็มีการชุมนุมที่ไม่สงบเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็มีความผิดและใช้ประมวลกฎหมายอาญาควบคุมได้ ไม่จำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมโรคมาดูแลการชุมนุมที่ไม่สงบ

ด้านนายสัญญา เอียดจงดี ทนายความ กล่าวว่า เราจะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินให้ระงับการบังคับใช้ประกาศและข้อกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา หากมีการชุมนุมก็จะฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.4639/3564 โดยกำหนดนัดชี้สองสถาน และกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 31 ม.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน