อัยการแจงยิบ กลับคำสั่งไม่ฟ้องอดีตเลขาฯคุณหญิงพจมาน กับสามี ฟอกเงินกรุงไทย ยันไม่ถูกการเมืองแทรกแซงแน่นอน ชี้คดียังไม่จบ รอดีเอสไอเเย้งหรือไม่

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษในฐานะรองโฆษก ร่วมกันแถลงข่าว กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน อดีตเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายวันชัย หงษ์เหิน สามี ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินว่า

คดีนี้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้รับสำนวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2561 คดีระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) โดยนายสุนทรา พลไตร ผู้กล่าวหา นางเกศินี จิปิภ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน และนายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 1-4 ข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินช่วงวันที่ 30 ธ.ค.2546 ถึง 17 พ.ค.2547 ต่อเนื่องกัน

คดีสืบเนื่องจากคดีหลักที่ธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้กลุ่มบริษัท กฤษฎามหานคร ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากพยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่านายทักษิณ มีส่วนให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้

คดีของนางกาญจนาภา และนายวันชัย เป็นกรณีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท ที่มีการหักจากบัญชีของนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร สั่งจ่ายนายพานทองแท้ ชินวัตร แต่มีการยกเลิกรายการก่อน ซึ่งคดีส่วนนี้ อัยการสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และนางเกศินี เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง ขณะที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน

แต่ในส่วนนางกาญจนาภา กับนายวันชัย อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องฐานสมคบ และร่วมกันฟอกเงิน เฉพาะการรับเช็ค 26 ล้านบาท ก่อนที่นางกาญจนาภา และนายวันชัย จะถูกออกหมายจับ หลังหลบหนีคดีออกไปนอกประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2561

ต่อมาวันที่ 30 ก.ค.2563 นางกาญจนาภา และนายวันชัย ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งฟ้อง โดยอ้างว่า ข้อเท็จจริงรูปแบบพฤติการณ์ที่กล่าวหาเป็นกรณีเดียวกับที่กล่าวหานายพานทองแท้ ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องไปแล้ว อีกทั้งมูลเหตุก็เป็นกรณีสืบเนื่องจากการกล่าวหานายทักษิณ และเป็นเหตุให้ถูกฟ้องที่ศาลฎีกาฯ ซึ่งศาลฎีกาฯวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่ไต่สวนฟังไม่ได้ว่าพันตำรวจโททักษิณชินวัตรกระทำความผิดตามฟ้องและพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวอ้างว่า เช็คที่นายวิชัย สั่งจ่ายเงิน 26 ล้านบาท ที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้งสอง ถูกกล่าวหา คดีนี้ก็เป็นเรื่องธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์ผ่านบริษัท หลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด และต่อมามีการขายหุ้นและได้คืนเงินลงทุนพร้อมกำไรรวมแล้ว 27 ล้านบาทเศษไปแล้ว ข้อเท็จจริงนี้มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสนับสนุน

ทั้งนี้ พนักงานอัยการได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการร้องขอความเป็นธรรม เห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ผู้ต้องหาทั้งสองร้องขอความเป็นธรรม เพราะคดีที่ฟ้องนายทักษิณ และนายพานทอง ซึ่งศาลต่างยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว อีกทั้งพนักงานอัยการยังเห็นว่า คดีไม่มีพยานหรือข้อเท็จจริงใดๆ ว่าผู้ต้องหาทั้งสอง เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย หรือมีบทบาทหรืออำนาจใดๆ ในการบีบบังคับธนาคาร ตลอดจนไม่มีส่วนรู้เห็นถึงกระบวนการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับกลุ่มนายวิชัย กับพวกดังกล่าว

พนักงานอัยการ เห็นว่าการร้องขอความเป็นธรรม มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นและคำสั่ง จึงมีคำสั่งกลับความเห็นเดิมที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง เป็นสั่งไม่ฟ้องนางกาญจนาและนายวันชัย ข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน

พนักงานอัยการได้ดูภาพรวมประกอบ มองว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล บทบาทที่จะไปร่วมทำผิดธนาคารกรุงไทย กระบวนการทั้งหมด จึงมีลักษณะเป็นพฤติการณ์คล้ายกันกับของนายพานทองแท้ เป็นเหตุที่อัยการต้องทบทวนคำสั่ง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ 2547 ข้อ 58 จึงต้องทบทวนให้ผู้ต้องหา เเม้ถึงไม่มีการขอความเป็นธรรมเข้ามา ซึ่งหลักเกณฑ์อัยการทั่วประเทศใช้กัน

ขณะนี้สำนวนคดีพร้อมความเห็นและคำสั่งดังกล่าวได้ส่งไปยังอธิบดีดีเอสไอแล้ว เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นพ้องหรือแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ หากเห็นพ้องคำสั่งไม่ฟ้องเป็นอันเสร็จเด็ดขาด แต่ถ้าอธิบดีดีเอสไอเห็นแย้ง ก็จะนำเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาชี้ขาดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

เมื่อถามว่าตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนอยู่ต่างประเทศ การร้องขอความเป็นธรรม มีการรับรองจากทางกงศุลหรือสถานทูต ถูกต้องหรือไม่ว่าเป็นตัวผู้ต้องหาจริง นายประยุทธ กล่าวว่า ขณะที่ผู้ต้องทั้ง 2 ร้องขอความเป็นธรรม ระเบียบปฏิบัติการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ 2547 ข้อ 48 ระบุว่าสามารถยื่นผ่านทนายความของผู้ต้องหาหรือผู้เเทนก็ได้ กรณีนี้จึงถูกต้องตามระเบียบ

เมื่อถามว่าคดีนี้พนักงานอัยการที่ร่วมพิจารณา มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันหมดหรือไม่ในการกลับคำสั่ง นายประยุทธกล่าวว่า ใช่ มีการกลั่นกรองจากพนักงานอัยการหลายขั้นตอน ซึ่งเเต่ละคนมีความเห็นเเนวทางเดียวกันหมด ตั้งแต่อธิบดีอัยการคดีพิเศษผ่านไปยังสำนักงานกิจการคดีพิเศษเเละถึงรองอัยการสูงสุด ในการกลับคำสั่ง ยืนยันว่าเเม้คดีนี้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เเต่การสั่งคดีของพนักงานอัยการมีความเป็นอิสระเเละไม่ถูกเเทรกเเซงเเต่อย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน