ศาลเเพ่งยกคำร้อง ไอลอว์ ขอคุ้มครองชั่วคราว ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามการชุมนุม ชี้ยังมีการแพร่ระบาดโควิด จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการ
เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 ที่ศาลเเพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลเเพ่งได้ออกเอกสารข่าว ความว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งมีคำสั่งให้รับคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 4639/2564 ที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) นางชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนกลุ่มเฟมินิสด์ปลดแอก และนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ แนวร่วมม็อบคณะราษฎร ยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 5 คน
ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 3 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4, ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 11 และให้ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น และขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 4,500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี แก่โจทก์ทั้ง 3 พร้อมรับคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ในกรณีฉุกเฉิน
โดยขอให้ศาล มีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว และห้ามมิให้นำมาตรการคำสั่งหรือการกระทำใดๆ ที่สั่งการตามประกาศดังกล่าวมาใช้กับโจทก์ทั้ง 3 และประชาชน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 8 ต.ค. เวลา 13.30 น.นั้น
บัดนี้ ศาลแพ่ง ได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้ว มีคำสั่ง สรุปใจความว่า จำเลยที่ 1 ออกข้อกำหนดดังกล่าว ห้ามมิให้มีการชุมนุมการทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกันที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโควิด-19 โดยปัจจุบันยังพบการติดเชื้อของบุคคลกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ อีกทั้งสถานการณ์ยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง
จำเลยที่ 2 จึงออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบดังกล่าว มาบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุข ในการเว้นระยะห่างและการป้องกันการสัมผัสของบุคคลอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) สร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาด ยังพบว่ามียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต
โจทก์ทั้ง 3 จะอ้างว่าไม่มีหลักฐานใดชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการชุมนุมสาธารณะการรวมกลุ่ม เพื่อทำกิจกรรมของบุคคลจำนวนมาก ย่อมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย ประกอบกับที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่ารู้สึกกลัวการแพร่ระบาดของโรค จึงต้องใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือและหน้ากากอนามัยในการมาชุมนุม ยิ่งแสดงให้เห็นว่ายังจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุข ในการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดในลักษณะคลัสเตอร์ ภายในประเทศกระจายไปในวงกว้าง
ตามคำร้องของโจทก์ทั้ง 3 จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอและยังไม่มีความจำเป็นเพื่อคุ้มครองชั่วคราว ก่อนพิพากษายกคำร้องของโจทก์ทั้ง 3
สำหรับจำเลยที่ 1-6 ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์, สำนักนายกรัฐมนตรี, กองบัญชาการกองทัพไทย, กระทรวงการคลัง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ