gมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่โรงแรมดิเอมเมอรัล ถนนรัชดาภิเษก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีผู้เรียกร้องให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า นักกฎหมายคนไหนก็รู้ว่าแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้สัมภาษณ์แล้วว่าสามารถทำได้ โดยทางหนึ่งไปแก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง และอีกทางหนึ่งคือการปลดล็อคคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แต่การปลดล็อคดังกล่าวในวันนี้อาจจะกระชั้นกับเวลา จึงอาจเหลือเพียงการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งคสช.รู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมา อาจต้องแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้ผ่อนปรนหรือขยายเวลาที่จะทำให้พรรคการเมืองต่างๆไม่เสียสิทธิ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ทันกำหนดเวลาในมาตรา 141 ของพ.ร.ป.พรรคการเมือง คือกรณีที่ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ และไม่สามารถจะได้รับเงินอุดหนุนพรรคการเมืองจากกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง ซึ่งคสช.ยืนยันว่าจะไม่ทำให้พรรคการเมืองเสียประโยชน์ทั้ง 2 เรื่องนี้ ถึงอย่างไรต้องลงสมัครได้ เพียงแต่ว่ายังไม่ต้องรีบร้อนอะไร เพราะพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ยังไม่ไปถึงไหน และยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ดังนั้นยังสามารถให้สิทธิ์เหล่านี้ได้ แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้น ก็สามารถไปแก้ไขกฎหมายได้

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ตนได้รับทราบว่ามีหลายคนที่ร้องเรียนให้แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งล่าสุดมีกรณีของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ที่ยื่นหนังสือถึงประธานสนช. อย่างไรก็ตาม คสช.ได้รับทราบเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่จะตัดสินใจอย่างไรนั้น ตนไม่ทราบ ส่วนทางออกมีอยู่ รู้กันมา 3 เดือนแล้วว่ามันมีทางออก

เมื่อถามว่าสิ่งที่นายไพบูลย์เรียกร้องให้แก้ไขในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสมาชิกพรรคการเมือง เคยถูกตีตกไปแล้วในช่วงการร่างพ.ร.ป.ดังกล่าว นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ยังไม่ได้อ่านรายละเอียดว่ามีอะไรบ้าง ต่อข้อถามว่าจากการประเมินสถานการณ์ขณะนี้ ส่วนตัวคิดว่าควรจะแก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอไม่ตอบเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่านายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าพ.ร.ป.พรรคการเมืองแค่มีการออกมาใช้ แต่ยังไม่ได้เริ่มการปฏิบัติจริง และตำหนินายวิษณุที่อยากจะให้แก้ไขกฎหมายนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดว่าจะให้แก้กฎหมาย บอกเพียงว่าทางแก้ปัญหามันมีอะไรบ้าง คือ 1.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. กับ 2.การไปแก้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งอาจใช้ช่องทางใดทางหนึ่ง หรือทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกันก็ได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากกฎหมายดังกล่าวออกมา มีหลายอย่างในหลายมาตราที่เริ่มการปฏิบัติจริงแล้ว อาทิ การให้พรรคการเมืองยังคงเป็นพรรคการเมืองต่อไปซึ่งตนขอถามว่าอย่างนี้เรียกว่าเริ่มปฏิบัติใช้จริงแล้วใช่หรือไม่ เพราะถ้ายังไม่ได้เริ่มปฏิบัติ ก็ถือว่าพรรคการเมืองทั้งหมดถูกยุบไปแล้ว เมื่อพรรคการเมืองเหล่านั้นจดทะเบียนตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับปี 2550 ที่ให้ยกเลิกฉบับเก่า จึงทำให้พรรคต่างๆต้องหมดไปด้วย แต่มีบทเฉพาะกาลในมาตรา 140 บัญญัติไว้ว่าให้พรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหารพรรคยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่ากฎหมายนี้ได้เริ่มบังคับใช้จริงแล้ว

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทำหนังสือถึงประธานกกต.เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องการคัดเลือก กกต.ในส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่อัดขัดกับพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า แม้มีการยื่นร้องเรื่องนี้ แต่ แต่คงไม่ต้องมีการหยุดรออะไร เดินหน้ากันต่อไป และเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่น่าสมชัยร้องเรียนนั้นมันถูกหรือผิด แต่หากพบว่ามีอะไรที่ต้องแก้ไข คงไปดำเนินการกันในภายหลัง โดยผู้ที่ต้องทำหน้าที่พิจารณาหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัย คือ ประธานกกต.ในฐานะผู้ทำหน้าที่รักษาการตามกฎหมาย และประธานสนช. ในฐานะที่จะต้องส่งรายชื่อว่าที่กกต. 7 คน ให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาตรวจสอบประวัติ แล้วให้ความเห็นชอบ และน่าจะรวมถึงการนำความขึ้นกราบบังคมทูลด้วย ส่วนตัวของตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน