‘ประยุทธ์’ ร่ายยาวเชิญชวนคนไทย ร่วมก้าวข้ามวิกฤติโควิด มองไปข้างหน้า เตรียมเปิดประเทศ โวฉีดวัคซีนมีแนวโน้มที่ดีมากๆ หวังกลับมาใช้ชีวิตตามปกติสุขเร็วๆนี้
วันที่ 16 ต.ค.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ความว่า พี่น้องประชาชนครับ ตราบใดที่โลกไม่หยุดหมุน เราคนไทยก็จะต้องไม่หยุดการพัฒนา ไม่ว่าจะเกิดปัญหา หรืออุปสรรคนานัปการเพียงใดก็ตาม วันนี้รัฐบาลขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยทุกคน ร่วมก้าวข้ามวิกฤติโควิด มองไปข้างหน้า และเตรียมเปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป
โดยมี 2 ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ ความพร้อมเรื่องการจัดหาและการฉีดวัคซีนซึ่งมีแนวโน้มที่ดีมากๆ ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่ ศบค.กำหนด รวมทั้งเรื่องเวชภัณฑ์และระบบสาธารณสุขที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถรองรับอัตราการติดเชื้อรายใหม่และลดอัตราการสูญเสียในอนาคตได้
และอีกปัจจัยที่สำคัญ คือ ความมีวินัยและความร่วมแรงร่วมใจกันของคนไทยทั้งประเทศ ในการเอาชนะโรคระบาด เพื่อมุ่งสู่การกลับมาใช้ชีวิตและการทำมาหากินตามปกติสุข แบบ New Normal ให้ได้ในเร็ววันครับ
ในขณะเดียวกัน เรื่องอุทกภัยในหลายจังหวัด ก็ยังคงเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน ซึ่งช่วงนี้ ผมและคณะรัฐมนตรีได้แยกกันเดินทางลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัย และติดตามการแก้ปัญหาของข้าราชการร่วมกับทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่ โดยเมื่อวานนี้ (15 ต.ค.) ผมได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย และเร่งรัดการเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน ป้องกันผลกระทบจากมวลน้ำหลาก ที่อาจจะมาจากหลายพื้นที่ในภาคอีสานที่ไหลมารวมกันที่ จ.อุบลราชธานี
ซึ่งผมกำชับว่าต้องให้เกิดความพร้อมป้องกันมากที่สุด และเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้รวดเร็วที่สุด นอกจากนั้น ผมยังได้มาติดตามการดำเนินการตามโครงการบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการไปแล้ว ที่จะป้องกันพื้นที่น้ำท่วมได้มากกว่า 3.7 แสนไร่ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำลำเจียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า บ้านหนองไหล เป็นต้น
นอกจากนั้น ผมยังได้รับฟังแผนการดำเนินโครงการจัดการลุ่มน้ำชี-มูล ที่จะดำเนินการในปี 65-67 จำนวนถึง 129 โครงการ เช่นโครงการผันน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์-ลำตะคอง โครงการบรรเทาอุทกภัย เขตเทศบาลนคร นครราชสีมา-อ.พิมาย และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน อ.โนนสูง โครงการประตูระบายน้ำลำเชิญ โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกระแหล่ง เป็นต้น
ผมยังได้ติดตามผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาก้าวสำคัญของประเทศ คือ “โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 30 เมษายน 2562 เห็นชอบให้ดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018) ที่นับว่าเป็นโครงการผลิตพลังงานทางเลือก เป็นพลังงานสะอาด และเป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์
ซึ่งผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำ โดยโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงกลางวัน และพลังน้ำจะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงกลางคืนหรือช่วงที่มีแสงไม่เพียงพอ ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เป็นความภาคภูมิใจของคนไท
ย ทั้งนี้ เมื่อเทียบต้นทุนและการซ่อมบำรุง กับกระแสไฟฟ้าที่ได้แล้ว ถือว่าถูกและคุ้มค่ามาก เทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ยิ่งกว่านั้นเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก และช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย โดย กฟผ.ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี
ได้ต่อยอดด้วยการพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของจังหวัด โดยก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) เพื่อให้ประชาชนได้เดินชมความสวยงามของทิวทัศน์ได้อย่างใกล้ชิด และจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมได้เยี่ยมชมโมเดลการสร้างความเข้มแข็ง-พึ่งพาตนเองได้ ด้านพลังงานและการเกษตรในระดับฐานราก ณ โรงเรียนและวัดป่าศรีแสงธรรม ซึ่งได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษา
ต่อยอด “ศาสตร์พระราชา” และโครงการตามพระราชดำริต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับภูมิสังคมของตนเอง เช่น โครงการแหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทน “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” ที่ไม่เพียงให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (หรือ “ไฟจากฟ้า”) แก่นักเรียนและชาวชุมชน เพื่อใช้ในบ้านและเป็นอาชีพเสริมแล้ว ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ชุมชนเกษตรกรรม ด้วยระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ควบคุมระบบเปิด-ปิดการรดน้ำต้นไม้ ด้วยระบบ IoT (หรือ “สมาร์ทฟาร์ม”) ในพื้นที่ “โคก-หนอง-นา โมเดล” อีกด้วย
ยิ่งกว่านั้นยังมีการจัดตั้งรูปแบบการบริหารจัดการตามแนวทาง “วิสาหกิจชุมชน” ที่เป็นการหารายได้ แล้วนำกำไรกลับมาพัฒนา สร้างความเจริญให้กับชุมชนของตนด้วยครับ
นับว่าเป็นอีกต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยความร่วมมือของคนในพื้นที่ ที่สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างบ้าน-วัด-โรงเรียน (หรือ “บวร”) ที่จะเป็นการสร้างพลังจากท้องถิ่นที่สำคัญของบ้านเมืองของเรา ทำให้ผมมีความประทับใจกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และความอดทนใจสู้ที่พบเห็นจากการมาพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องที่จังหวัดอุบลฯ นี้มาก
ทั้งนี้ ในการพลิกโฉมประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติในระยะต่อไปนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับชาติ และการขับเคลื่อนในแต่ละระดับก็จะต้องอาศัยพลังบวก จากทุกพลังทางสังคม และพลังจากความสามัคคีของทุกภาคส่วน มาทำงานร่วมกัน เช่นเดียวกับโควิด
ที่เราผ่านมาได้จากความร่วมแรงร่วมใจและสามัคคีของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ในการฟื้นฟูประเทศและ “พลิกโฉมประเทศไทย” ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง เศรษฐกิจดีนั้น จึงต้องอาศัยพี่น้องทุกคนให้สู้ไปด้วยกันอีกครั้งพร้อมกับผม รัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐทุกแห่งที่พร้อมดำเนินการตามแผน และให้การสนับสนุนพี่น้องประชาชนทุกคนครับ