ลุ้นชี้ชะตา ศาลนัดอ่านอุทธรณ์ 4 แกนนำกปปส. คดีร่วมกบฏ บุกรุก ยุยงปั่นป่วน ขัดขวางการเลือกตั้ง หลังศาลชั้นต้นยกฟ้องเมื่อปี 62

เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 20 ต.ค. ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีกบฎ กปปส.สำนวนแรก หมายเลขดำ อ.1191/2557, อ.1298/2557 , อ.1328/2557 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 59 ปี แกนนำ กปปส. นายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 44 ปี อดีตส.ส.กทม. ร่วมชุมนุม นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 70 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายเสรี วงศ์มณฑา อายุ 72 ปี นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด เป็นจำเลยที่ 1-4

ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ, เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันบุกรุก

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง, ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. ความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152 รวม 8 ข้อหา

คดีสำนวนแรกนี้ อัยการยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2557 กรณีสืบเนื่องจากการร่วมชุมนุมกันของ กปปส.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 56 – 1 พ.ค.57 ซึ่งมีการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายคำฟ้อง อัยการโจทก์ยังขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 5 ปี

ขณะที่จำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธทุกข้อหา พร้อมตั้งทนายความสู้คดี ระหว่างพิจารณาคดีจำเลยทั้งสี่ ได้รับการปล่อยชั่วคราว ซึ่งคดีเริ่มสืบพยานตั้งแต่ปี 2558-2562

คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.62 พิพากษายกฟ้อง โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์-จำเลย นำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานที่อัยการโจทก์นำสืบมารับฟังได้เพียงว่าจำเลยทั้ง 4 รายได้เข้าร่วมชุมนุม กับกปปส. แต่ไม่ได้เป็นแกนนำที่สั่งการผู้ชุมนุมหรือขึ้นปราศรัยสั่งการให้กระทำการรุนแรง

โดยการชุมนุมของ กปปส.ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยที่ 59/2556 ว่าการชุมนุมของกปปส. เนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุคัดค้านการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและไม่พอใจการบริหารของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา จึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดตามฟ้องทั้ง 8 ข้อหา จึงพิพากษายกฟ้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน