‘ประยุทธ์’ ร่วมเวทีประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 9 ย้ำความร่วมมือการกระจายวัคซีนโควิด-สิ่งแวดล้อม-พัฒนาด้านดิจิทัล

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 26 ต.ค. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกาฯ ครั้งที่ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน เข้าร่วมด้วย ถือว่าเป็นการเข้าร่วมประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวถึงความสำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนที่มีความสำคัญมากขึ้นว่า สหรัฐฯ สนับสนุนแนวคิด AOIP และเห็นว่า การก้าวผ่านศตวรรษที่ 21 ต้องร่วมมือกันเพื่อสู้กับโควิด- 19 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ร่วมกัน และการผลิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมุ่งหวังที่จะได้ร่วมกับอาเซียนเพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป และสหรัฐฯ ให้คำมั่นกับความสัมพันธ์ร่วมกับอาเซียน ยืนยันที่จะสนับสนุนการเป็นแกนกลางของอาเซียน ตลอดจนยืนยันที่จะมีความช่วยเหลือให้กับอาเซียนอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อสนับสนุนอาเซียนให้ Build Back Better

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยินดีที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ในครั้งนี้ โดยระบุว่าถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านเป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค อาเซียนกับสหรัฐฯ มีประวัติศาสตร์ความร่วมมือระหว่างกันมาถึง 45 ปี ผ่านความท้าทายร่วมกันมาหลายประการ ทั้งนี้ ขอบคุณที่สหรัฐมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

นายกรัฐมนตรี กล่าวเสนอแนวทางความร่วมมือของอาเซียน-สหรัฐฯ ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ความร่วมมือในการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว พร้อมกล่าวขอบคุณสหรัฐฯ ที่สนับสนุนวัคซีนจำนวนมากให้แก่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงไทย รวมทั้งยินดีที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายจะขยายฐานการผลิตวัคซีนไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งไทยพร้อมให้ความร่วมมือทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา และการกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ

2.การให้ความสำคัญกับการเติบโตสีเขียว เพื่อก้าวไปสู่ “Next Normal” อย่างยั่งยืน หวังว่าสหรัฐฯ จะขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนและการสร้างงานในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านแผนการเงินระหว่างประเทศด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ (U.S. International Climate Finance Plan) ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อาเซียนบรรลุเป้าหมาย

อาทิ การลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานลงร้อยละ 32 และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 23 ภายในปี ค.ศ. 2025 ทั้งนี้ ในส่วนของไทย รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะ “พลิกโฉมประเทศ” ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในการฟื้นฟูจากโควิด-19 อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยไทยจะผลักดันประเด็นเศรษฐกิจ BCG ในช่วงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปี ค.ศ. 2022 ซึ่งหวังว่าจะได้ต้อนรับประธานาธิบดีไบเดนที่ประเทศไทย

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า 3.การพัฒนาด้านดิจิทัล ซึ่งยินดีที่ในวันนี้ได้ร่วมรับรองแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยการพัฒนาด้านดิจิทัล ซึ่งจะต่อยอดไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้ GDP อาเซียนขยายตัวได้ถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2025 โดยไทยมุ่งผลักดันโครงการ “ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์” ภายใต้ EEC เพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และการสร้างดิจิทัลสตาร์ทอัพในภูมิภาค

“ขอเน้นย้ำถึงการทำงานร่วมกันของมหาอำนาจเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบ สันติ และเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวหลังโควิด-19 โดยหวังว่า พัฒนาการต่างๆ รวมถึงการจัดทำยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ และหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก (AUKUS) จะเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และหลักการภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP)” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน