กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย เสนอ “พุทธพาณิชย์-เครื่องรางของขลัง” เป็นอุตสาหกรรมธุรกิจสร้างสรรค์ผลักดันเศรษฐกิจไทย เหมือน ข้าว มัน ยาง อ้อย

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย โดยลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา จัดรายการ DART TO CARE เพราะแคร์ถึงต้องคุย หัวข้อ “มูเตรวย” ข้าว มัน ยาง อ้อย พุทธพาณิชย์เสือตัวที่ 5 ของเศรษฐกิจไทย เสนอผลักดันพุทธพาณิชย์และอุตสาหกรรมเครื่องรางของขลังให้กลายเป็น “อุตสาหกรรมธุรกิจสร้างสรรค์” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

คำ ผกา เริ่มต้นโดยการกล่าว่า เราถูกสอนมาว่ามีพุทธแท้-พุทธเทียม มีพุทธที่ดีกับพุทธที่ไม่ดี พุทธที่ดีจะต้องซื่อตรงต่อพระไตรปิฎก ควรจะสำรวม พูดน้อยๆ ตื่นเช้ามากวาดลานวัด ปฏิบัติกรรมฐาน เราจะรู้สึกว่านี่คือพุทธแท้ พุทธที่ดี ส่วนพุทธที่ไม่ดี เราก็ถูกสอนว่าคือ พวกขายสังฑทาน วัดท่าไม้ พุทธพาณิชย์ หยอดเงินไปทั่ว เดี๋ยวดูดวง เดี๋ยวสะเดาะเคราะห์ เดี๋ยวก็ปล่อยปลา เดี๋ยวสร้างพระราหู เดี๋ยวก็ขายของดำ 8 อย่าง ในความรู้แบบมาตรฐานมันมีความดูถูกพุทธพาณิชย์ คำผกากล่าวว่าคำสอนนี้คือ “เราถูกสอนให้เราอายในแบบตัวเราที่เราเป็น”

ปัญหาของพุทธพาณิชย์ก็คือ เรา “ไม่เคยยอมรับ” ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อตัว เป็นตัวตน เป็นอัตลักษณ์ของเรา เราไม่เคยยอมรับว่านี้คือตัวตนที่แท้จริงของเรา ถ้าเราละทิ้งปมด้อยนั้นแล้วเผชิญหน้ากับมัน แล้วยอมรับเถอะว่าพุทธพาณิชย์เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทย แล้วเผชิญหน้ากับมันทั้งทางเศรษฐกิจและทางความรู้ ผลประโยชน์ทั้งหมดจะเกิดขึ้นองค์ความรู้กับภาคเศรษฐกิจไทยอีกมหาศาลและจะกลายมาเป็น Soft Power ที่เราใฝ่ฝัน

ดังนั้นก้าวที่ 1 ของการผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องรางของขลังในฐานะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเราต้องเปลี่ยนชุดความคิดเราเกี่ยวกับพุทธพาณิชย์ “อย่าบอกว่าเงินกับวัดมันไปด้วยกันไม่ได้ ยอมรับเถอะว่าศาสนากับทุนนิยมมันหนีกันไม่พ้น” แล้วถ้าวัดหรือศาสนจักรจะต้องเกี่ยวพันกับเรื่องเงิน เราก็ทำให้มิติของความเป็นมิจฉาชีพค่อยๆ เบาบางลง

และควรทำมาหากินกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างสุจริตและตรวจสอบได้ และ มีความภาคภูมิใจที่มากพอที่จะยกระดับและแตกแขนงมันออกไปอีกหลายแบบ เพื่อผลักดันพุทธพาณิชย์ให้เป็นเสือเศรษฐกิจไทยอีกตัว ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เหมือนข้าว มัน ยาง อ้อย ที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของเศรษฐกิจไทย

ด้าน รศ.ดร.ณดา จันทร์สม นักวิชาการผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเงินบริจาควัด เสนอว่าเปลี่ยนการเรียก “พุทธพาณิยชน์” ให้เป็น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อ” แทน เพราะความจริงเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งในมิติทางวัฒนธรรม มิติทางศิลปะ และมิติทางโบราณวัตถุ

รศ.ดร. ณดา เริ่มต้นว่า มูลค่ามหาศาลของเงินบริจาควัด ตอนปี 2555 ที่ได้ทำวิจัย พบว่า ณ ตอนนั้นประทเศไทยมีวัดอยู่ประมาณ 25,000 วัด แต่ปัจจุบันมีวัดอยู่ประมาณ 40,000 กว่าแห่งแล้ว เพราะเพียงช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาก็มีจำนวนวัดเพิ่มมากขึ้นเป็นหลักพันแห่ง

ซึ่งเงินที่เข้าไปในระบบของวัดนั้นมีหลากหลายมากเนื่องจากวัดมีหลายขนาด ตั้งแต่วัดเล็กๆ ที่มีรายได้หลักแสนบาทต่อปี จนถึงวัดใหญ่ที่มีรายได้ปีละ 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งแน่นอนว่าการบริจาคมันมีตั้งแต่การบริจาคเพื่อบูรณะศาสนสถาน ศาสนวัตถุ พระพุทธรูป ไปจนถึงการบริจาคเพื่อเช่าวัตถุมงคลจากวัด ซึ่งโดยเฉลี่ยจากที่เก็บข้อมูลมาโดยการสุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ

พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วรายได้ของวัดทั่วประเทศจะอยู่ที่ 3.2 ล้านบาทต่อปี แต่ก็จะมีรายจ่ายที่สูงมากเช่นกันตามขนาดของวัด ทำให้วัดเหลือเงินสะสมเฉลี่ยประมาณ 500,000 บาทต่อปี ซึ่งถ้ารวมกับจำนวนวัดทั้งหมดเราจะเห็นได้ว่าเงินบริจาควัดมีมูลค่ามหาศาลขนาดไหน

ในเรื่องพุทธพาณิชย์ หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านความเชื่อ ถ้าเรามองว่าจะสามารถพัฒนาในเรื่องของความเชื่อที่มีมูลค่าได้ ซึ่งเห็นด้วยกับที่ว่า ของพวกนี้บางเรื่องมันไม่มีการเปิดตัวตัวเลขที่แท้จริง การเก็บข้อมูลไม่ได้ทำต่อเนื่องทำให้ข้อมูลที่เคลื่อนไหวตามกาลเวลามันตกหล่นและเราก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาอย่างเป็นระบบ

ดังนั้นเรื่องนี้มันต้องมีมูลค่ามากกว่าข้อมูลที่ไม่ว่าศูนย์วิจัยไหนก็ตามบอกมาว่ามีอยู่ 2-3 หมื่นล้าน หรือ 4 หมื่นล้าน เพราะเราไม่มีระบบในการจัดเก็บข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่า เราไม่รู้ว่าเรื่องนี้มันจะไปอยู่ในมิติไหนของเศรษฐกิจ วัดไม่ได้เก็บข้อมูลทำบัญชีที่เป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถที่จะประเมินและติดตามสถานะได้อย่างแท้จริง

ซึ่งหลายเรื่องนี้ไม่ได้ถูกจัดเก็บข้อมูลในระบบภาษี ไม่ได้ถูกเก็บข้อมูลรายงานทางการเงิน ทำให้การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจส่วนนี้มันไม่ครบถ้วนและรอบด้านเพียงพอ ดังนั้นถ้าเราทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนแล้วใส่กลไกในการส่งเสริมสนับสนุนขึ้นมา จะกลายเป็นแหล่งรายได้ชั้นดีเพราะจะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภาคบริการอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวที่พานักท่องเที่ยวต่างประเทศมาบูชาวัตถุมงคล มาดูดวง มาสักยันต์ ก็จะเชื่อมโยงกับมิติการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือถ้าเราพูดเรื่องการเช่าวัตถุมงคลมันก็จะเชื่อมในมิติของสินค้าหรือการผลิตวัตถุ ซึ่งจะมีมูลค่าในเรื่องของวัตถุที่นำมาใช้ผลิต หรือมูลค่าในทางศิลปะ หรือมูลค่าในทางโบราณวัตถุ

ฉะนั้นทั้งหมดนี้ถ้าเราจะยกระดับธุรกิจประเภทนี้จริงๆ ก็จะสามารถเป็นแหล่งรายได้อีกช่องทางหนึ่งของประเทศ และเราต้องมีการพัฒนาเรื่องข้อมูลอย่างจริงจัง พัฒนาผลิตภัณฑ์และมีกลไกในการสนับสนุนดึงศักยภาพสิ่งเหล่านี้ออกมา โดยแน่นอนที่สุดว่าเราต้องนำธุรกิจเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบเพื่อให้สามารถรายงานข้อมูลได้อย่างถูกต้อง

ด้าน ธนัช ชัยวชิระศักดิ์ แฟนพันธุ์แท้จตุคามรามเทพ กล่าวว่า ย้อนไปตอนกระแสจตุคาม ปี 2549-2551 ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ไม่มีกระแสวัตถุมงคลอันได้ที่เท่าตอนนั้น ถ้าสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ถูกต้องจริงจัง ตรงนี้จะเป็นรายได้สูงมากเลยส่วนมาก ย้อนไปตอนกระแสองค์จตุคามมีชื่อเสียงโด่งดัง เศรษฐกิจหมุนเงินในระบบปีนั้นกว่า 28,000 ล้าน เฉพาะองค์จาตุคามอย่างเดียว แล้วองค์จาตุคามตอนนั้นธุรกิจมวลรวมโดยรอบ ก็มีขายพวงมาลัยก็ได้เงิน ค่ารถก็ได้เงิน จัดละครก็ได้เงินจัดดอกไม้ก็ได้เงิน เพนท์สีพระก็ได้เงิน ทำกล่องก็ได้เงิน ทำแป้งก็ได้เงิน เพราะต้องเอามาทำองค์จาตุคาม เศรษฐกิจมันขยับเยอะมากเลย ทุกอย่างได้เงิน เหมือนกระแสไอ้ไข่ตอนนี้ ผู้เป็นคนศึกษาองค์จตุคามอย่างจริงจัง คนจีนให้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญ ถ้าไม่มีโควิดผมรับแขกวันละหลายสิบคน คนต่างชาติที่เข้ามาเช่าพระเครื่องในห้างพันทิพย์เดือนหนึ่งได้เงินจีนไม่ต่ำกว่าหลายร้อยล้าน

ด้าน คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ เชฟหมี กล่าวว่าถ้าดูข้อมูลการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเรื่องมูเตลูไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกประเทศ เห็นชัดๆ ว่าสังคมไทยมีเรื่องราวแบบนี้อยู่จริงๆ เราจะปฏิเสธความจริงได้อย่างไร ประเด็นสำคัญ คือ ในเมื่อเราปฏิเสธความจริงไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้ปลอดมิจฉาชีพ การหลอกลวง การค้ากำไรเกินควร หรือใช้สิ่งที่ผิดกฎหมาย ถ้าเกิดเราเอามิติพวกนี้ออกไปได้ มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ก่อนเข้ามาก็มีคอนเม้นท์ว่า “มันไม่ใช่พุทธศาสนา มันคือการบิดเบือน” แต่ไม่ว่าคุณจะว่ายังไงก็ตาม สุดท้ายแล้วก็เป็นสิ่งที่คนนิยมจริงๆ

ในอีกแง่ ต่างชาติเข้ามาบ้านเราด้วยเหตุผลนี้โดยส่วนหนึ่งจริงๆ มีสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากถูกระบุในรายการท่องเที่ยว เช่น ทัวร์จีนจำนวนนึงระบุเลยว่าต้องไปพระพรหมเอราวัณ ไม่มาไม่ได้ จนไต้หวันกับจีนถึงขั้นต้องไปจำลองไว้ที่ประเทศของเขาด้วย ต่างชาติชอบมากจริงๆ กับอะไรแบบนี้

คนอาจจะกลัวว่าเราค้าขายความงมงาย ค้าขายสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่ถ้าเรามองเรื่องนี้กว้างออกไป จะมีเรื่องเชิงวัฒนธรรม Pop-Culture มีมิติการท่องเที่ยว มีมิติอะไรอีกสารพัดเลยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่อย่างที่บอกว่าสิ่งเหล่านี้ถูกทำให้ไม่โปร่งใส แล้วกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่เราอยากจะแอบซ่อน แต่เราก็รู้ว่ามันทำเงินให้เรา

ผมคิดว่าการที่เราจะดึงมันออกมา แล้วก็พูดถึงอย่างเปิดเผย ขั้นแรกว่า มันมีเรื่องเหล่านี้ในสังคมจริงๆ เราจะศึกษาเรียนรู้ยังไง เราจะเข้าใจเรื่องนี้ยังไง และถ้าเราเห็นว่าควรจะผลักดันไปสู่แนวทางที่เหมาะสมก็จะเป็นขั้นต่อไป แต่ตอนนี้แม้กระทั่งเราเอาขึ้นมาพูดเรายังรู้สึกอายอยู่เลย เหมือนกับว่าเรายังไม่ยอมรับตัวเองเลยว่าเรามีเรื่องพวกนี้อยู่จริงๆ

สิ่งพวกนี้มีเรื่องของภูมิปัญญาอยู่ แต่ไม่ได้ศึกษาเลยทำให้เละเทะไปหมด เราต้องมองมันในฐานะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นภูมิปัญญาที่ยังไม่ได้ศึกษา อีกอย่างหนึ่ง หากมองในแง่เสรีภาพความเชื่อก็ทำได้ ใครชอบอะไรก็ทำไปเชื่อไป

“อย่าเอาคำว่าพุทธพาณิชย์มาใช้เลย มันคือวาทกรรมของคนที่ไม่เห็นด้วย หาว่าค้าขายความเป็นพุทธ ซึ่งจริงๆแล้วเศรษฐกิจศรัทธาเป็นส่วนหนึ่งของความสุข เราค้าขายความสุข และมันก็เป็น Soft Power ที่ถูกจริตกับแต่ละคน”

ด้าน นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่ม CARE และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เสนอว่าไม่อยากเอาคำว่าพุทธพาณิชย์มาใช้ เพราะเป็นวาทกรรมของคนที่ไม่เห็นด้วย โดยมองว่า จริงๆ แล้วเศรษฐกิจศรัทธาเป็นส่วนหนึ่งของความสุข เราค้าขายความสุข และมันก็เป็น Soft Power ที่ถูกจริตกับแต่ละคน

เราต้องกลับมาตั้งต้นใหม่และตีความใหม่ว่า Soft Power คือเศรษฐกิจแห่งความสุข มันเป็นความสุขแล้วแต่จริตของแต่ละคน คนนี้ดูภาพยนตร์แบบนี้แล้วมีความสุข ก็เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ภาพยนตร์ คนนี้ใส่เสื้อผ้าแบบนี้มีความสุขก็เป็น Soft Power ด้านแฟชั่น หรือแม้กระทั่งอาหารการกิน ที่กินแล้วมีความสุข ดังนั้น อะไรที่มันทำให้เกิดความสุขได้ มันก็อาจจะเป็น Soft Power

แล้ว “ศรัทธา” ก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง ซึ่งวาทกรรมว่าพุทธพาณิชย์ มันเลยทำให้เกิดการตีความในเรื่องของเศรษฐกิจความเชื่อหรือศรัทธาเนี่ย ให้กลายเป็นเรื่องผิด เป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะไปค้าขายอะไรแบบนี้ แต่เรากำลังมองว่า อะไรที่ทำให้ก่อความสุขเนี่ย นั่นคือ สิ่งที่อาจจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเศรษฐกิจความเชื่อความศรัทธาเนี่ยผมว่าก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เหมือนกับที่เราซื้อน้ำหอม Aromatherapy ที่ดมแล้วจะนอนหลับหรือเชื่อว่าดมแล้วจะหลับง่าย หรือมีเพลงที่สั่งจิตใต้สำนึกได้ นอนหลับง่าย มันก็ใช้วิธีคิดเดียวกันกับเศรษฐกิจศรัทธานี่แหล่ะ นั่นก็คือ เศรษฐกิจความสุข

ในด้านพรรคการเมืองหากจะร่วมผลักดัน ผมจะเสนอทางฝ่ายนโยบายว่าน่าจะศึกษาเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง ว่าเรื่องนี้เราจะพามูได้ยัอย่างไร ตอนนี้เราควรจะมาวิเคราะห์เจาะลึกกันอย่างเอาจริงเอาจังได้แล้ว และศึกษาว่ามันควรจะมีอะไรบ้างที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจที่จะได้ประโยชน์กลับมาทั้งในแง่ส่วนบุคคลหรือแง่ของประเทศก็ตาม และ อะไรคือกุญแจแห่งความสำเร็จ

ดังนั้นเรื่องนี้ก็เหมือนกัน ว่ารัฐควรจะอำนวยความสะดวกแบบไหนที่จะสามารถส่งเสริมธุรกิจนี้ได้ จัดระบบยังไง ศึกษาข้อมูลทำแผนยังไง ซึ่งผมคิดว่านโยบายเรื่องนี้สำหรับพรรคการเมืองที่สนใจเรื่อง Soft Power ก็ควรจะสนใจเรื่องนี้ให้มากๆ

ซึ่งถ้าจะส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เรื่องนี้ คงต้องส่งเสริมเรื่องการบริหารจัดการ ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ความรู้เหล่านี้ต้องมีการส่งเสริม เรื่องการตลาดจะสร้างอย่างไรให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู ถ้าเราทำเป็นระบบ มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมแบบเอาจริงเอาจัง จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมหาศาล และเราต้องเริ่มจริงจังสักที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน