กกต.ปลื้มผลโพล ชาวบ้านยันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งอบต.ร้อยละ 53 เร่งพีอาร์ดันให้ถึงร้อยละ 80 เผยคนไม่ค่อยเชื่อมั่นเลือกตั้งสุจริต โปร่งใส

เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. พร้อมด้วยนายธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ แถลงผลสำรวจการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะมีขึ้นวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.นี้ ในหัวข้อ “ถามใจคนท้องถิ่น ใช้สิทธิเลือกตั้งอบต.”

โดยสำรวจวันที่ 19-25 ต.ค. ในพื้นที่เป้าหมาย 5 ภาค ภาคละ 3 จังหวัด จากข้อมูลผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต.ครั้งหลังสุด ดังนี้ ภาคเหนือ ได้แก่ ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ภาคกลางและปริมณฑล เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ภาคกลางและตะวันออก จสระบุรี ลพบุรี ชลบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาสารคาม ยโสธร อุดรธานี และภาคใต้ ชุมพร สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ รวม 15 จังหวัดๆ ละ 150 ราย รวมทั้งสิ้น 2,756 คน

พบว่า ร้อยละ 86 ทราบว่าจะมีการเลือกตั้ง อบต.วันไหน ร้อยละ 14 ที่บอกว่าไม่ทราบ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ทราบว่ามีการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ทราบจากสื่อสังคมออนไลน์ รองลงมาคือป้ายประชาสัมพันธ์ รู้จากผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่อบต.

ส่วนการเลือกตั้ง อบต.ทำให้นึกถึงเรื่องใดมากที่สุด ร้อยละ 50 ระบุการพัฒนาท้องถิ่น ร้อยละ 26 นึกถึงประชาธิปไตย และร้อยละ 25 นึกถึงสิทธิของคนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ร้อยละ 58 เห็นว่าการเลือกตั้งอบต. มีผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ร้อยละ 26 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 16 ไม่มีผล

ส่วนความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งอบต.ครั้งนี้มีความสุจริต โปร่งใส หรือไม่ มีเพียงร้อยละ 31 ที่เชื่อมั่น ร้อยละ 50 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 19 ไม่เชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 53 ระบุจะไปเลือกตั้งแน่นอน ร้อยละ 27 คิดว่าจะไป ร้อยละ 17 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 3 บอกว่าไม่ไป ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งอบต. ร้อยละ 51 ระบุโควิด-19 ร้อยละ 17 ความสะดวกในการเดินทาง และร้อยละ 12 เรื่องฝนฟ้าอากาศและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ร้อยละ 8 ระบุค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง อบต. ร้อยละ 34 ระบุเป็นนโยบายการหาเสียง ร้อยละ 27 คุณสมบัติของผู้สมัคร ร้อยละ 20 วิธีการและกลยุทธ์หาเสียง ร้อยละ 12 ระบุอิทธิพลของนักการเมือง และร้อยละ 7 บอกว่าเงินที่ใช้หาเสียง

ส่วนแอพพลิเคชั่น Smart Vote ที่กกต.พัฒนาขึ้นเพื่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหาข้อมูลการเลือกตั้ง มีเพียงร้อยละ 33 ระบุรู้จัก และร้อยละ 67 ไม่ทราบ ขณะที่แอพ ตาสับปะรด ที่กกต.สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนแจ้งข้อมูลทุจริตเลือกตั้ง ร้อยละ 38 ระบุรู้จักร้อยละ 62 ไม่ทราบ

นายธนสุวิทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว หากกกต.เร่งประชาสัมพันธ์ จะทำให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้งอบต. และสร้างความเชื่อมั่นว่าจะปลอดภัยเมื่อออกไปใช้สิทธิ จะทำให้ตัวเลขของผู้ที่คิดว่าจะไป และยังไม่แน่ใจว่าจะไปใช้สิทธิในวันที่ 28 พ.ย. เปลี่ยนใจไปใช้สิทธิ จะทำให้ตัวเลขของคน 2 กลุ่มนี้ ไปรวมกับผู้ที่มั่นใจว่าจะไปใช้สิทธิแน่นอน ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 53 ทำให้ผู้ที่จะออกไปใช้สิทธิมีสูงถึงร้อยละ 80

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน