บริษัท ‘กัลฟ์’ ฟ้อง ‘หมอวรงค์’ หัวหน้าพรรคไทยภักดี 100 ล้าน ปมทวงคืนดาวเทียม เผยขอบคุณโจทก์ทุกท่านที่ช่วยเติมพลังให้ ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.64 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก เล่าว่า ได้รับหมายเรียกคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท ระบุว่า “ฟ้องผมร้อยล้าน ก่อนหน้านี้ การต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบัน ผมถูกนายธนาธรและพรรคก้าวไกลฟ้อง คดีละ 24,062,475 บาท สองคดีก็เกือบ 50 ล้านบาท ล่าสุดมาต่อสู้เรื่องทวงคืนดาวเทียมไทยคม เพิ่งได้รับหมายศาลจากบริษัท กัลฟ์ ฟ้องผม 100 ล้านบาท ต้องขอบคุณโจทก์ทุกท่านครับ ที่ช่วยเติมพลังให้ผม ในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ”

ทั้งนี้ หมายดังกล่าวกำหนดให้ นพ.วรงค์ ทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่รับหมาย นัดกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์อีกทีวันที่ 27 ธ.ค. 2564 เวลา 09.00 น. โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

กรณีนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ถูกร้องที่ 2 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ผู้ถูกร้องที่ 3 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ผู้ถูกร้องที่ 4 และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกร้องที่ 5

กระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 และมาตรา 305 (1) และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 มาตรา 274 โดยศาลเห็นว่า กรณีผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้ถูกร้องที่ 1 มีมติมอบให้ผู้ถูกร้องที่ 5 นำเอกสารข่ายงานดาวเทียม (filing) ที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกไปทำสัญญาร่วมกับ บริษัท Asia Satellite Telecommunications Company Limited

ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 หรือไม่ เห็นว่าการยื่นคำร้องในปัญหาการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่ประชาชนทั่วไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ส่วนกรณีผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 4 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เลขที่ 3ก/55/002 ลงวันที่ 26 มิ.ย. 55 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 305(1) และบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 305(1) เป็นบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ฯ

ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 4 และกรณี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 มาตรา 274 หรือไม่เห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิไว้เป็นการเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 และมาตรา 231(1) ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้

สำหรับกรณีประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 60 หรือไม่เห็นว่าประกาศดังกล่าวมิได้มีสถานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่จะอยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน