‘ม็อบส้นสูง’ นัดบุกทำเนียบทวงเงินเยียวยา หลังรัฐเมินช่วย กลุ่มพนักงานบริการ กระทบหนักจากโควิด สถานประกอบการโดนปิด แต่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือ

วันที่ 20 ธ.ค.64 ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานบริการ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เปิดเผยว่า พนักงานบริการได้เดินทางไปบริเวณหน้าทำเนียบเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ให้ชดเชยเงินเยียวยาให้ เดือนละ 5,000 บาทให้กับพนักงานบริการจนกว่าจะกลับมาทำงานได้ โดยได้รอฟังข่าวจากภาครัฐแต่ก็ยังนิ่งเงียบ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

จนกระทั่งรัฐบาลประกาศจะเปิดประเทศ 1 ธ.ค. และจะให้สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ กลับมาเปิดได้พนักงานบริการต่างก็ดีใจและเตรียมตัวในการทำงาน เอารองเท้าที่ไม่ได้ใช้มานาน มาปัดทำความสะอาด แต่สุดท้ายกลับถูกเลื่อนไปเป็นปีหน้า ทั้ง ๆที่พนักงานบริการต่างดีใจและเตรียมพร้อมที่จะทำงานในช่วงปีใหม่กันแล้ว ทำให้ความหวังของพนักงานบริการพังลง

ทันตา กล่าวว่า กลุ่มพนักงานบริการเราเห็นว่าไหนๆ ก็ไม่ได้ทำงาน รองเท้าที่เตรียมไว้ก็ไม่ได้ใช้จึงร่วมทำคลิประบายความในใจและส่งรองเท้าไปให้รัฐบาลเพื่อบอกว่าอย่าลืมพวกเรานะ โดยใช้แคมเปญว่า “ส้นสูงส่งเสียง” และพนักงานบริการได้ช่วยกันส่งรองเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลกว่า 100 กล่อง

แต่รัฐกลับไม่รับฟังเสียงและรองเท้าของเราถูกตีกลับมา และโครงการที่รัฐกำลังจะมีมติออกมาเพื่อเยียวยาก็ไม่มีความชัดเจนว่าเราพนักงานบริการจะเข้าถึงได้อย่างไร เพราะพนักงานบริการส่วนมากไม่มีประกันสังคมและทำงานอิสระ ร้านยังไม่ได้กลับมาเปิดทำงานได้ เราจึงจะนำรองเท้าส้นสูงของเราที่ถูกตีกลับไปทวงถามอีกครั้งว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะมองเห็นเราสักที

“พวกเราจะนำรองเท้าที่ถูกตีกลับมาจัดนิทรรศกาลว่านี้คือคำตอบของรัฐบาล ณ บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพในวันที่ 21 ธ.ค. เวลา15.00 -20.00 น. และในวันที่ 22 ธ.ค. พวกเราจะไปยื่นหนังสือเพื่อทวงถามอีกครั้งที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเวลา 10.00 น.”ทันตา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรการเยียวยาที่รัฐบาลกำลังจะออกใหม่ เข้าไม่ถึงกลุ่มคนทำงานกลางคืนหรือไม่ ทันตา กล่าวว่า เป็นการเข้าถึงเพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น เช่น นักร้อง นักดนตรี แต่พวกตนไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขเหล่านั้นเลย ทั้งพนักงานอาบอบนวด บาร์อะโกโก้ ซึ่งรัฐบาลไม่มีชัดเจนว่าจะให้เงินเยียวยาหรือไม่ ที่สำคัญคือดูเหมือนว่าคนที่จะได้รับเงินเยียวยาต้องไปขึ้นทะเบียนกับสมาคม ซึ่งพนักงานบริการไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขเหล่านั้น ดังนั้นเราจึงอยากไปถามว่าทำไมถึงไม่ให้ชัดเจน

ทั้งนี้พนักงานบริการได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ระบุว่า พวกเรารวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมสิทธิของพนักงานบริการ สมาชิกในกลุ่ม คือ คนทำงานบริการในสถานบริการ บาร์ คาราโอเกะ อะโกโก้ อาบอบนวด นวดสปา และคนทำงานในพื้นที่อิสระ รวมไปถึงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เราพนักงานบริการทำกิจกรรมเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงานและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ได้รับสิทธิ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและตีตรา

แถลงการณ์ ระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ มกราคม ปี 2563 จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 426 วัน ที่รัฐบาลสั่งปิดสถานบริการ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พนักงานบริการได้เรียกร้องกับรัฐบาลมาโดยตลอด ให้ดำเนินการเยียวยาคำสั่งปิดสถานบริการ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ต่อเดือนให้กับพนักงานบริการและคนทำงานในสถานบริการทุกคนจนกว่าสถานบริการจะกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้

แต่รัฐบาลยังคงเพิกเฉยไม่มีการเยียวยาใด ๆ พนักงานบริการได้รับการเยียวยาอยู่เพียง 90 วันในโควิดระลอกแรก จากโครงการเราไม่ทิ้งกัน เป็นเงินจำนวน 15,000 บาท เห็นชัดว่าว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจทิ้งกลุ่มคนทำงานบริการภาคกลางคืนไว้ข้างหลัง

“โควิดส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้สถานบริการขนาดกลางและขนาดเล็กต้องปิดตัวลง พนักงานถูกให้ออก เกิดภาวะตกงานทั่วประเทศ อีกทั้งการบริหารจัดการแก้ไขของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการเราชนะ เราไม่ทิ้งกัน เรารักกัน หรือเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม

ซึ่งพบว่าเงินเยียวยาไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง บางมาตรการก็เข้าไม่ถึง โดยเฉพาะพนักงานบริการที่ไม่มีประกันสังคม ที่มีถึง 90% และพนักงานบริการที่เป็นแรงงานข้ามชาติหรือชาติพันธุ์”แถลงการณ์ระบุ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน