ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ผ่านฉลุย รัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ร่าง กฤษฎีกา แจงกำกวม ผู้สมัคร-พรรค เบอร์เดียวกันขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อเวลา 17.05 น. วันที่ 24 ก.พ.2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. วาระแรก จำนวน 4 ร่าง ภายหลังสมาชิกอภิปรายเนื้อหาเสร็จสิ้น ได้เปิดให้เจ้าของร่างทั้ง 4 ร่าง อภิปรายสรุปเนื้อหาอีกครั้ง

นางชื่นสุมน นิวาทวงษ์ ตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า มาตรา 90 ในการพิจารณาเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ มีการพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 48 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เนื่องจากมาตรา 90 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตแล้วให้มีสิทธิ์ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้

การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นกรณีที่ได้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 48 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งกำหนดว่าในการสมัครรับเลือกตั้งให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร เรียงตามลำดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งที่ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกให้ ดังนั้น เมื่อพิจารณา 2 มาตรานี้ประกอบกัน

สรุปว่าการจะถือว่าได้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตแล้ว ผู้สมัครผู้นั้นจึงต้องมีหลักฐานการรับสมัคร และมีหมายเลขผู้สมัครตามมาตรา 48 ของของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แล้ว

กระทั่งเวลา 17.30 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุมได้สอบถามสมาชิกถึงการลงมติว่า จะลงมติรวมทีเดียวหรือลงทีละฉบับ ซึ่งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้รวมการลงมติ ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.เสนอแยกลงมติทีละฉบับ นายชวนจึงขอมติที่ประชุม ปรากฏว่าที่ประชุมให้ลงมติแยกทีละฉบับ

ฉบับแรก ร่างของ ครม. ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 609 ต่อ 16 งดออกเสียง 10 ไม่ลงคะแนน 1

ฉบับที่สอง ร่างของพรรคเพื่อไทย ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 420 ต่อ 205 งดออกเสียง 14 ไม่ลงคะแนน 1

ฉบับที่สาม ร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 598 ต่อ 26 เสียง งดออกเสียง 12

ฉบับที่สี่ ร่างของพรรคก้าวไกล ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 418 ต่อ 202 งดออกเสียง 15 ถือว่าสมาชิกรัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ร่าง

จากนั้นตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 49 คน ใช้ร่างของ ครม.เป็นหลัก แปรญัตติภายใน 15 วัน นัดประชุมกกรรมาธิการวิสามัญ นัดแรกวันที่ 1 มี.ค. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา รวมเวลาการพิจารณาในวันนี้กว่า 7 ชั่วโมง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน