‘ทูตรัศม์ ชาลีจันทร์’ แนะท่าทีไทย ต้องค้านการบุกยูเครนของรัสเซีย มิเช่นนั้น ใครก็จะมารุกรานประเทศเราได้ ‘อ.สุรชาติ บำรุงสุข’ ชี้ 8 วิกฤตหนัก ช่วงสงครามก่อตัว บ้านเรา ก็โดนด้วย ชี้ สหรัฐการข่าวแม่นยำ แต่ยับยั้งอะไรไม่ได้

เมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) 65 ข่าวสด ออนไลน์ ได้รายงานการสนทนาในรายการ “อยากมีเรื่องคุย” ต่อสถานการณ์รัสเซียรุกรานยูเครน โดยได้เชิญ รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ และ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มของสถานการณ์ของรัสเซียที่รุกรานยูเครนจะส่งผลกับอะไรบ้าง โดยมี ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวข่าวสด ร่วมวิเคราะห์

ความสัมพันธ์ยูเครน-รัสเซีย “เมื่อสามีเก่าไม่อยากให้เมียเก่ามีแฟนใหม่”

รัศม์ แม้ออกตัวไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียโดยตรงแต่ได้กล่าวถึงสถานการณ์ว่า ถ้ายึดในกรอบหลักการโดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศ พันธกรณี ว่าด้วยความสัมพันธ์ต่างๆ มามอง เหมือนที่เคยโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ายูเครนนี้ เขาเคยอยู่ร่วมหัวจมท้ายกับรัสเซียมาก่อน ตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต ยูเครนอยู่ภายใต้โซเวียต เหมือนแต่งงานกัน แต่รัสเซียในแง่นี้มีหลายเมีย (หลายรัฐบริวาร)

การอยู่ร่วมกัน เหมือนคลุมถุงชนโดยไม่มีถามความสมัครใจ จนมาหย่าแยกกันตามกฎหมาย 30 ปี (สหภาพโซเวียตล่มสลาย) จริงๆ นิยามนี้เป็นรุ่นน้องผมที่อธิบายความสัมพันธ์นี้และเข้าท่าดีเลยยืมมาใช้อธิบาย รัสเซียเหมือนสามีเก่า เมียเก่าเลิกราอยากมีแฟนใหม่ แต่กลัวว่า แฟนใหม่เอามีดจ่อสามีเก่า เลยบังคับไม่ให้เขามีแฟนใหม่ แน่นอนว่า ในแง่เทคนิค การคุกคามของนาโต้อะไรได้

เมื่อถามถึงความชอบธรรมในการกระทำของรัสเซียที่เข้ารุกรานยูเครน รัศม์กล่าวว่า ในแง่ความคิดของรัสเซียคือกลัวว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) จะมาล้อมกรอบเขา จะมาเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย เพราะฉะนั้นรัสเซียรีบชิงโจมตียูเครนก่อน เป็นสิ่งที่คนมองและพยายามให้ความชอบธรรม แต่ตนมองใน 2 ประเด็น

ประเด็นแรก ภัยคุกคามนั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน อย่างที่รู้กันว่านาโต้สภาพเป็นเพียงเสือกระดาษ เปรียบนาโต้เหมือนชิวาว่า และรัสเซียเป็นพิตบูล แต่ในกลับกัน นาโต้จะไปบุกรัสเซียได้ยังไง ขุมกำลังแต่ให้มีสหรัฐฯแต่สหรัฐฯอยู่อีกทวีป สมาชิกนาโต้ที่เหลือในยุโรปจะไปบุกได้ยังไง เทียบกำลังแล้ว นาโต้จะเป็นภัยคุกคามแท้จริงต่อรัสเซียได้ยังไง แล้วนาโต้ไปรุกรานาที่อื่น มีหรือ สิ่งเหล่านี้ เชื่อถือได้ยังไง

ประเด็นสองในแง่กฎหมาย ยูเครนจะเข้าร่วมนาโต้แล้วเป็นภัยคุกคามกับรัสเซีย ตรงนี้ยูเครนเป็นประเทศเอกราช สามารถดำเนินนโยบายของเขาเองได้ ยกตัวอย่างประเทศหนึ่งอยากซื้อฝูงบินรบ เรือดำน้ำแต่ประเทศเพื่อนบ้านบอกทำไม่ได้ จะเป็นภัยคุกคามแล้วบุกซะเลย คือจะต่างกันยังไง สิ่งนี้มีกฎหมายระหว่างประเทศที่คนหนึ่งสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้ ยูเครนก็เช่นกัน รัสเซียบุกยึดไครเมียแล้ว จึงแน่ชัดว่ายูเครนต้องการหลักประกันและมีสิทธิ

“ทุกวันนี้ แล้วเห็นอยู่แล้วว่าความขัดแย้ง รัสเซียส่งทหารบุกเข้ายูเครนไปแล้ว แต่นาโต้ยังทำอะไรไม่ได้เลย และยังไม่ได้ส่งทหารเข้าไป สิ่งนี้ชัดเจนว่านาโต้ไม่ได้เป็นภัยคุกคามจริงอย่างที่รัสเซียประโคม มีแต่มาตรการคว่ำบาตร ส่วนใหญ่แทบเป็นเสือกระดาษไม่ได้มีขุมกำลังเป็นภัยคุกคามกับรัสเซียได้ และเป็นเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศที่ยูเครนมีสิทธิเลือกเอง ถ้ารัสเซียทำถูกในสายตาคนไทย ก็ยอมรับว่าประเทศไหนก็รุกรานไทยได้ ถ้าเห็นไทยเป็นภัยคุกคาม อย่างนั้นหรือ” รัศม์ กล่าว

“ไทย” ต้องวางตัวอย่างไร ในวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

รัศม์กล่าวว่า จากที่ได้เห็นแถลงการณ์ท่าทีของกระทรวงต่างประเทศของไทย ก็เป็นอย่างที่คาดไว้ คืออยากเห็นทางออกอย่างสันติ ซึ่งก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วคือ รัสเซียบุกแล้ว ในอดีตเราเคยมีสถานการณ์คุกคามต่อไทย คือปี 1978 เป็นเหตุการณ์เวียตนามรุกรานกัมพูชา ล้มล้างรัฐบาลเขมรแดง แล้วกำลังเวียตนามประชิดพรมแดนไทย ซึ่งเราก็คัดค้านเพราะ

1.ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ 2.ถ้าเรายอมรับไม่คัดค้าน ก็เท่ากับว่าประเทศไหนก็สามารถส่งกำลังบุกได้ ยอมรับว่าวันหนึ่งเวียตนามมีสิทธิบุกเราได้ด้วย เขามีกำลังมาจ่อพรมแดนไทย เป็นเรื่องหลักการ ผมคิดว่าท่าทีเราควรต้องประณามรัสเซียต่อการรุกรานครั้งนี้ ถ้าเราเห็นด้วยกับรัสเซียหรือไม่คัดค้าน ประณาม ถ้าเราไม่ทำ ก็เท่ากับยอมรับว่าประเทศขนาดใหญ่สามารถรุกรานประเทศด้อยกว่าได้ ซึ่งผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงของเราด้วย “ทางการไทยควรแสดงการคัดค้านการกระทำของรัสเซียต่อยูเครน ไม่เช่นนั้นใครก็จะมารุกรานเราได้” รัศม์ กล่าวย้ำ

รัศม์ กล่าวอีกว่า ท่าทีของไทยในการตอบสนองต่อการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียถือว่าช้ามาก มิหนำซ้ำ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นแถลงการณ์ท่าทีจากอาเซียน นับว่าช้ามากซึ่งจริงๆไม่ได้เสียหาย และยังได้สร้างชื่อให้องค์กร แต่กลับทำตัวไม่สนใจโลกเลย ทั้งที่เรามีเจรจากับยูโรปกับรัสเซีย น่าจะมีการแสดงท่าทีอะไรออกมาบ้าง มีการประชุมระดับรัฐมนตรีหรือผู้นำบ้าง แต่ก็ไม่ทำ ช้ามาก ไม่รู้ทำไม แต่ก็ทำให้ใครก็ไม่มีใครพูดถึงอาเซียนเลย

ด้านนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างสุรชาติกล่าวว่า อย่างที่ทูตรัศม์พูดถูกคือ อาเซียนเงียบเกินไป หรือมะงุมมะงาหรากับปัญหาพม่า หรือไม่อยากโทษว่าเราได้กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน ก็ไม่อยากขยับการเมืองระหว่างประเทศมากเพราะกัมพูชาใกล้ชิดกับจีน และจีนเองก็สนับสนุนรัสเซีย เราคงคาดหวังอาเซียนยาก แม้แต่อินโดนีเซียที่เคยมีบทบาทมากรอบนี้กลับเงียบ จึงยิ่งไม่ค่อยมีความหวังกับไทย ผลพวงจากการรัฐประหารของไทยในปี 2557 คือได้ทำลายงานด้านการต่างประเทศของไทย ทำให้นักการทูตหรือนโยบายต่างประเทศของไทย ที่คิดว่าจะเปิดมิติใหม่ขึ้นมาได้ ถูกทำลายเลย ทำลายจนศักยภาพเราหายไป กรณีปัญหาพม่าเป็นตัวอย่างหนึ่ง

พอเจอโจทย์ใหญ่อย่างรัสเซียบุกยูเครน สิ่งที่รัฐบาลไทยทำได้ดีที่สุดหากเราตามข่าว ดูจากกรมสารนิเทศ กต.ว่าได้จัดเตรียมการอพยพให้คนไทยในยูเครนให้มีขั้นตอนต่างๆ แต่นั้นคือกระบวนการตามโดยปกติอยู่แล้ว สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลไทย อาจออกตัวว่าไม่อยากเห็นการใช้กำลัง แต่ถึงตอนนั้นสิ่งที่อยากเห็น ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยแต่รวมถึงอาเซียน โลกในศตวรรษที่ 21 ไม่อยากให้รัฐมหาอำนาจใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนเส้นเขตแดนของรัฐ คือจุดนี้ใหญ่

เพราะถ้าเราไม่เคลื่อนจุดนี้ ต่อไปไต้หวันจะกลายเป็นยูเครนแห่งเอเชีย(ที่จะโดนจีนบุก) พูดอย่างนี้รัฐบาลบางประเทศอาจไม่ชอบ แต่ว่าการเมืองในภูมิภาคเอเชียเรา เราไม่อยากเห็นการใช้กำลังในการเปลี่ยนเส้นเขตแดนรัฐ เพราะจะกลายเป็นวิกฤต

ผลกระทบระยะยาวต่อสถานการณ์

รัศม์ มองผลกระทบต่อไทยจากวิกฤตนี้ว่า ค่อนข้างแปลกใจจนถึงงุนงง ที่มีคนไทยส่วนหนึ่งเชียร์ให้รัสเซียบุกยูเครน ผมมองว่าการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ไทยจะได้อะไรในผลบวก ผมนึกไม่ออก กลับเห็นแต่ผลเสีย แต่กลับมีคนไทยไปเชียร์จนลืมว่า ในยูเครนก็มีคนไทยอยู่ รัสเซียรุกรานก็กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยที่อยู่กินในยูเครน ไม่คิดถึงพี่น้องคนไทยเลยหรือ มีคนไทยหลายร้อยคนไปตั้งรกราก คนไทยแบบนี้ก็มี ราคาน้ำมันก็ขึ้น หุ้นดิ่งร่วง ผลกระทบต่อการเดินทาง ไม่รู้ว่ามีข้อดียังไงต่อไทย ผมคิดไม่ออก ทำไมกลับมีคนเชียร์ แต่สถานการณ์นี้จะไปสู่อะไร

สหภาพยุโรปหรือนาโต้ทำก็เหมาะคือการคว่ำบาตร แต่เพื่อนผมก็มองอีกมุมว่าส่งกำลังเข้าไปให้รู้เรื่องเลย แต่ผมห่วงว่ากลับทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลาย เรื่องอย่างนี้จะเอาความสะใจเป็นที่ตั้งก็ไม่ได้ ในแง่นี้ การคว่ำบาตรรัสเซียอาจต้องเหลือไพ่ในมือไว้บ้าง แต่ในอีกแง่ รัสเซียใช่ว่าจะไม่เสียหาย ยังไงรัสเซียก็ต้องเสียแน่ไม่ทางใดทางหนึ่งจากการตัดสินใจรุกรานยูเครน ซึ่งคิดว่าไม่น้อย และพูดถึงความไม่พอใจต่อตัวปูติน เศรษฐกิจก็แน่นอน มีราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการทำสงคราม

ส่วนหนึ่งที่สหภาพโซเวียตล่มสลายก็เพราะความเสียหายจากการทำสงครามในอัฟกานิสถาน ปูตินจะเอาแบบนั้นอีกรอบหรือ สหรัฐฯก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ต้องย้ำว่าสหรัฐฯเป็นคนแรกที่รู้ว่ายังไงรัสเซียรุกรานยูเครนแน่นอน แต่ไม่มีใครเชื่อ จนในที่สุดก็ได้เห็น แต่ในขณะเดียวกัน คนที่กระทบคือรัสเซียเอง จ่ายค่าทำสงคราม โดนลงโทษทางเศรษฐกิจ

นี่ไม่เหมือนโลกยุคสงครามเย็นแล้ว ผ่านมากว่า 3 ทศวรรษแล้ว ดูจากกรณีสหรัฐฯในอัฟกานิสถานหรืออิรัก ต่อให้รัสเซียล่มรัฐบาลโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ แล้วเอารัฐบาลหุ่นเชิดมาปกครอง จะได้อะไร คุณต้องเอาทหารเข้าไปเท่าไหร่ ที่จะมาค้ำอำนาจรัฐบาลหุ่นเชิดนี้โดยที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน คนที่จะพังเองคือ รัสเซีย สหรัฐฯอาจชอบใจลึกๆด้วย อยากเลือดออกเอง ก็เลือกเอา

“ในสายตาผม เป็นการเดิมพันที่เรียกว่า ไม่ค่อยเข้าท่า และผิดหลายอย่าง แล้วสร้างความไร้เสถียรภาพให้กับโลก ก่อผลเสียเป็นวงกว้าง แม้แต่กับประเทศที่ห่างไกลจากวิกฤตอย่างไทยด้วย” รัศม์ กล่าวประเมินผลลัพธ์จากการตัดสินใจของรัสเซียในการรุกรานยูเครนและว่า แม้แซงก์ชั่นจะไม่สามารถเห็นผลลัพธ์ได้ในทันที แต่เรากำลังพูดถึงในระยะยาว และรัสเซียยิ่งอยู่ในยูเครนก็ยิ่งเจ็บตัว

ส่วน สุรชาติ กล่าวว่า ผลกระทบตามมาแน่คือ

1.ราคาน้ำมัน วิกฤตน้ำมันแพงที่เรากำลังเผชิญ จะโดนผลพวงของวิกฤตพลังงานโลก ไม่ใช่ระดับธรรมดาแล้ว เพราะว่าอัตราราคาน้ำมันขยับตั้งแต่ก่อนปีใหม่ แล้วพอมาดูราคาน้ำมันล่าสุด ราคาพุ่งทะยานสูงสุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2014 (เหตุการณ์ผนวกไครเมียโดยรัสเซีย) พ้น 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้จะเป็นร้อยต้นๆ แต่ถ้าแนวโน้มไปแบบนี้ 100 ดอลลาร์จะบวกมากขึ้น วิกฤตพลังงานโลกจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ กลับมาที่ไทยคือราคาดีเซล รัฐบาลไทยต้องคิดเผื่อ

2.ค่าเงินผันผวนแน่ แม้ว่าจะมีการบอกว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและเงินเยนของญี่ปุ่นจะมีเสถียรภาพแล้วขยับขึ้น แต่ในอนาคตค่าเงินจะผันผวน

3.ราคาทองคำขึ้นแน่ 30,000 ต่อ 1 บาทแล้ว

4.หุ้นนี่แน่นอนว่าหัวทิ่มลง กระทบทั้งโลกและตลาดหุ้นในเอเชีย

5.ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรบางตัว มีแนวโน้มขึ้นสูง อย่างข้าวสาลีที่ขึ้นมาก่อน จากผลพวงสถานการณ์เพราะยูเครนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ระดับโลก ยูเครนคือตะกร้าอาหารของยุโรป ผลิตข้าวสาลีร้อยละ 12 ข้าวโพดร้อยละ 16 ของโลก

6.สิ่งที่เราเห็นวิกฤตพลังงานในยุโรปเกิดขึ้นแน่และการเมืองในยุโรปผันผวน

7.สหรัฐฯก็ส่งสัญญาณเจอภาวะเงินเฟ้อ

8.ธนาคารกลางของรัสเซียเข้าไปอุ้มค่าเงินรูเบิลเพื่อไม่ให้ตลาดหุ้นรัสเซียล่ม แปลว่าสัญญาณเศรษฐกิจไม่บวก แม้แต่ทางทหารก็ประเมินว่าไม่เกิน 24 ชั่วโมง คียีฟแตก แล้วนาโต้กับสหรัฐฯ จะเอายังไง หลายฝ่ายไม่อยากเสี่ยงเพราะหวั่นเกิดสงครามขนาดใหญ่ ยังไงไม่แตะพื้นยูเครนแต่อาจส่งกำลังเข้าไปในรัฐบอลติกหรือโปแลนด์ แล้วในอนาคตจะยังไง

ในอีกมุมหนึ่ง สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศผันผวนขนาดใหญ่ เรากำลังเห็นวิกฤตสงครามยูเครน วิกฤตโควิด-19 ก็ยังไม่จบ อนามัยโลกได้เรียกร้องรัสเซียอย่าไปสร้างปัญหากับโรงพยาบาลในยูเครนเพราะโควิด-19 ยังอยู่ และโควิดก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เราเห็นวิกฤตพลังงานแน่และจะเห็นวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวยูเครนเข้าสู่ยุโรป โปแลนด์ประกาศเตรียมรับแล้ว โลกเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตเลย

ยังไปไม่ถึงสงครามขนาดใหญ่

เมื่อถามถึงโอกาสที่รัสเซียบุกยูเครนจะนำไปสู่สงครามขนาดใหญ่หรือการเปลี่ยนโฉมระเบียบการเมืองโลกนั้น รัศม์ กล่าวว่า ตอนนี้ที่เราเห็นสถานการณ์และท่าทีของผู้นำตะวันตกก็คือหลีกเลี่ยงการทำสงคราม อย่างน้อยสงครามยังไม่ขยายตัวไปมาก ซึ่งเป็นความตั้งใจของชาติตะวันตกที่ไม่ต้องการให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ นี่จึงพอตอบได้ว่านาโต้เป็นภัยคุกคามจริงหรือ? เขาทำได้แต่เขาไม่ทำ และเลือกควบคุมไม่ให้ขยายตัว พร้อมลงโทษด้วยวิธีอื่นๆ

จีน-รัสเซีย’ ใกล้ชิดมากขึ้น?

เมื่อถามการกระชับมิตรระหว่างปูตินกับสีจิ้นผิง สุรชาติ กล่าวว่า หลายฝ่ายมองกันอยู่ ถ้าย้อนกลับไปนี่ หากมีการกดดันรัสเซียนี่ วิกฤตยูเครนจะทำให้รัสเซียใกล้ชิดจีนไหม ตอนงานโอลิมปิกฤดูหนาวที่จีนนั้น จะเห็นความสัมพันธ์แบบจี๊จ๋ากันระหว่าง 2 ผู้นำ แล้วพอรัสเซียรุกรานยูเครน ก็มีคาดการณ์ว่า ปูตินคงส่งสัญญาณให้สีรู้แล้วหรือไม่ แต่คงเป็นเพียงการคาดการณ์ ต่อบนเงื่อนไขนี้ สิ่งที่เห็นชัด วิกฤตยูเครนเข้าไปสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น จีนมีท่าทีไม่รับและไม่ขอใช้คำพูดว่า “รุกราน” ผมว่านี่ก็เรื่องใหญ่แล้ว รู้ว่ารัสเซียกับจีนคงยกมือวีโต้ นี่จะเป็นการกลับสู่ยุคสงครามเย็นหรือไม่ หรือว่าสงครามเย็นกลับมาจริงๆแล้วในพื้นที่ยุโรป

มองปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในการรุกรานยูเครน เกี่ยวกับการเมืองภายในรัสเซีย?

สุรชาติ กล่าวว่า ในมิติการทหาร ต้องยอมรับว่า สหรัฐฯคาดการณ์ถูก ที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน ถ้าพูดภาษาเรา สหรัฐฯวิเคราะห์สถานการณ์ถูกแต่ยับยั้งไม่ได้ ผมคิดว่า เราเห็นการฟื้นตัวทางการเมืองของรัสเซีย เหมือนตอนกรณีจอร์เจียและไครเมีย หรือก่อนหน้านี้ที่รัสเซียกับบทบาทในซีเรีย สัญญาณเหล่านี้ที่ปูตินพยายามบอกโลกว่ารัสเซียฟื้นแล้ว และให้ยุโรปยอมรับในฐานะ เจ้าอำนาจที่ใครต้องเกรงใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากเห็น ระเบียบโลกที่เกิดขึ้นหลังสงครามเย็น ที่รัสเซียอาจรู้สึกไม่ได้มีส่วนร่วม และตะวันตกเป็นคนผลักดัน

คำตอบชัดคือ เราเห็นการแตกสลายของรัฐบริวารที่รัสเซียเคยควบคุม เพราะฉะนั้นวันนี้รัสเซียเติบโต จะกลับสู่ปัญหานั้นคือ จิตวิญญาณของสงครามเย็น รัสเซียกำลังเผชิญความกลัวที่ใหญ่ที่สุดคือกลัวสงครามภาคพื้นในยุโรปเอง โดยเฉพาะถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์โลก รัสเซียเจอปัญหาใหญ่ 2 ครั้งคือการรุกรานจากนโปเลียน (สงครามนโปเลียน)

และการรุกรานของนาซีเยอรมนีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปฏิบัติการบาร์บารอสซา) 2 สงครามใหญ่ในแง่จิตวิทยาทางประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่รัสเซียว่า ใครจะขึ้นเป็นผู้นำรัสเซียก็ต้องตระหนักว่า สงครามทางบกสามารถบุกประชิดพรมแดนรัสเซีย จึงขอพาระเบียบโลกยุคหลังสงครามเย็นกลับสู่แบบเก่า หรือที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า รัสเซียต้องการทวงสิทธิเดิมที่เคยครอบครองในพื้นที่ยุโรปตะวันออกทั้งหมด

เราก็ร้อนๆหนาวๆกันมาในช่วงไม่กี่วัน อย่างโปแลนด์ก็หวั่นๆ (ล่าสุดรัสเซียได้เตือนแกมขู่สวีเดน-ฟินแลนด์) อีกส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าอีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่แต่คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่คิดคือ 3 รัฐแถบบอลติก (ลัตเวีย,ลิธัวเนีย,เอสโตเนีย) ลิธัวเนียประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ต้นเลย หลังรัสเซียเข้าบุกยูเครน พร้อมกับโปแลนด์ ลิธัวเนียกลัวว่าถ้ารัสเซียบุกยึดยูเครนได้ แล้วหวนไปยึด 3 รัฐบอลติกล่ะ? ผมว่าตรงนี้เขาก็สู้ เพราะแต่เดิมเขาเป็นรัฐเอกราชมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮิตเลอร์และรัฐมนตรียุคนาซีเยอรมนีตัดสินใจยกให้แบบที่น่าตกใจ แต่วันนี้ 3 รัฐบอลติกเขากังวล

ฉะนั้นวันนี้ เราต้องเรียกว่านี่เป็นสถานการณ์ความรุนแรงที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นสถานการณ์ที่กำลังเป็นการรื้อระเบียบโลกเดิม ซึ่งตกลงแล้วหลังสิ้นสุดสงครามเย็นในยุโรป แต่วันนี้ ระเบียบต่างประเทศในยุโรปล้มแล้ว

วิเคราะห์วาทกรรม “ปูติน” ก่อนเปิดฉากรุกรานยูเครน

เมื่อถามถึงคำปราศรัยของปูตินในการใช้ที่สะท้อนมุมมองทางประวัติศาสตร์กับยูเครนโดยเฉพาะความต้องการทำลายความเป็นนาซีที่เกิดขึ้นในยูเครน สุรชาติกล่าวว่า นี่ถือเป็นโอกาสที่ได้เห็นมิติทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ภายในจิตใจความคิดของผู้นำรัสเซีย ซึ่งผู้นำทุกประเทศมีหมด แต่ถ้าตัดเอาเฉพาะบริบทของสงครามยูเครนคราวนี้

เราเห็นได้ว่า ปูตินไม่มูฟออนจากประวัติศาสตร์ชุดเก่า ที่เชื่อว่า เซเลนสกี้ กำลังทำให้ยูเครนเป็นรัฐนาซี แต่ว่าคนที่หัวเราะอยู่คือยุโรป เพราะเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลเลย และอีกคำที่ปูตินใช้อย่าง การปลดปล่อยยูเครนไม่ให้ถูกความเป็นนาซีกลืนกิน หรือก็คือปลดปล่อยไม่ให้ยูเครนเป็นรัฐทหาร ก็มีปัญหาอีกเพราะว่า ถ้าบอกว่าไม่ให้ยูเครนเป็นรัฐทหาร คือยูเครนไม่ได้มีรัฐประหารเหมือนบางประเทศ

แต่บริบทอย่างนี้ มันสะท้อนวิธีคิดของปูตินที่ติดกับประวัติศาสตร์ชุดเก่า ไม่ว่าคำพูดที่ว่า สิทธิอันชอบธรรมของจักรวรรดิรัสเซียในยุคโบราณ อ้างว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาตั้งแต่โบราณ เรียกว่าถอยไปไกลมาก แต่อาจสอดรับกับกระแสชาตินิยมในบ้าน ยุคนี้เห็นได้ชัดว่า ผู้นำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้นำในระบอบกึ่งหรือระบอบอำนาจนิยม จะเอากระแสชาตินิยมมาหล่อเลี้ยงสถานะทางการเมือง แต่ความต่างในยุคนี้คือ

  • ปูตินไม่ได้มีคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ไม่ได้ปกครองรัสเซียเหมือนยุคสงครามเย็น สิ่งที่เราได้เห็นตั้งแต่เมื่อวาน ที่น่าสนใจมากคือ ชาวรัสเซียออกมาประท้วงปูตินในการรุกรานยูเครน รู้ว่าต้องถูกจับกุมแน่ จำนวนคนประท้วงถูกจับแล้วกว่า 1,400 คน ต้องยอมรับว่า พวกเขากล้าหาญ

 

  • คอมมิวนิสต์ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน หรือถ้ามีฝ่ายค้านก็มีแบบหล่อมแหล่ม หรือมีก็ถูกส่งไปไซบีเรีย แต่รัสเซียยุคนี้ฝ่ายค้านมีตัวตน ขบวนการที่ตอบรับเงื่อนไขการทำสงครามของรัสเซีย เรียกว่ามีขบวนการสันติภาพไม่เอาสงครามเกิดขึ้นในรัสเซียเหมือนกับที่สหรัฐฯเคยมีฮิปปี้หรือชุมนุมต่อต้านการทำสงครามในเวียตนาม หรือสงครามอัฟกานิสถานหรืออิรัก รัสเซียก็กำลังจะเจอเหมือนกัน แปลว่า พลวัตทางการเมืองในรัสเซียก็ไม่ได้เหมือนเดิมแบบเก่า แม้ว่าจิตนาการประวัติศาสตร์หรือวาทกรรมชาตินิยมที่ปูตินใช้ มาถึงจุดหนึ่งก็จะขายไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่ง เวลาทหารเสียชีวิตเนี่ย มีนัยยะกับชาวรัสเซีย กับพ่อแม่ของทหารที่เสียชีวิต

ทูตรัศม์อาจพูดถูกที่ว่า รัสเซียอาจได้ยูเครนคืน ตีกรุงคียีฟแตก ตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดมา แล้วรัสเซียต้องจ่ายด้วยอะไร ผมว่ามาตรการคว่ำบาตรรอบนี้ใหญ่ แม้หลายคนปรามาสว่าแซงก์ชั่นเหมือนเสือกระดาษ เพราะรัสเซียโดนแซงก์ชั่นมาตั้งแต่ตอนบุกจอร์เจียในปี 2008 วิกฤตไครเมียในปี 2014 ก็บอกว่าแซงก์ชั่นไม่มีผลแล้ว รัสเซียโดนฉีดยาชาเข้าไปแล้วหลายเข็มจนไม่กลัวแล้ว แต่ว่ารอบนี้ สิ่งที่น่าสนใจถ้าดูฝั่งอียู แซงก์ชั่นที่เห็นแค่ก้าวแรกและจะหนักขึ้น เช่นเดียวกับสหรัฐฯ

แน่นอนว่า แซงก์ชั่นรัสเซียก็ส่งผลกับตะวันตก แต่ผลทางเศรษฐกิจจะหนัก ถ้ารัสเซียถูกตัดออกจากระบบการเงินระหว่างประเทศ (S.W.I.F.T) ซึ่งยังมีการถกเถียงเรื่องนี้ ก็กังวลถ้ารัสเซียหลุดจะการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศก็จะยุ่งเหยิง และการแซงก์ชั่นจะบีบการทำธุรกรรม การทำการค้า คนตะวันตกทำกับรัสเซียไม่ได้ รัสเซียก็ทำกับตะวันตกไม่ได้ จะผลกระทบใหญ่กับรัสเซีย ซึ่งน่าติดตามอยู่ แม้แซงก์ชั่นอาจถูกมองว่าเป็นเสือกระดาษ แต่มันก็เจ็บ

วิเคราะห์การเมืองโลกแถบอินโด-แปซิฟิกหลังการประชุมยุทธศาสตร์ที่ปารีส

เมื่อถามถึงสถานการณ์อีกฟากระหว่างสหรัฐฯกับจีนในอินโด-แปซิฟิก จนมาสู่สถานการณ์ในยูเครน ที่จะมีโอกาสเห็นการกลับมาของฉากทัศน์โลกแบบสองขั้ว สุรชาติ กล่าวว่า เราอาจพูดได้ว่าเรากำลังจะอยู่ในโลกช่วงต้นของสงครามเย็นไม่รู้ก่อนสงครามเกาหลีหรือเปล่า ถ้าเทียบนัยยะเวลา คือเรากำลังสร้างขั้วการเมืองจริงๆ ผมคิดว่าสถานการณ์ในหลายปี เรียกว่าเป็น สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 เหตุการณ์ที่เราเห็นนั้นชัด

โลกกำลังแบ่งเป็น 2 ขั้วในยุโรปและเอเชีย เมื่อทรัมป์ประกาศอินโด-แปซิฟิกแล้วไบเดนมารับแนวคิดต่อ แต่กลายเป็นว่าไม่ใช่แค่สหรัฐฯ แม้แต่รัฐในยุโรปก็ขานรับแนวคิดอินโด-แปซิฟิกอีก นำมาสู่คำถามที่ว่า ภาวะสองขั้วใหญ่แบบนี้จะผ่อนคลายลงไหม? ผมว่าไม่เบาแล้วล่ะ การที่รัสเซียรุกรานยูเครนได้นำไปสู่ภาวะการเมืองโลกสองขั้วที่เข้มข้นขึ้น

เท่ากับว่า ระเบียบการเมืองโลกหลังยุคสงครามเย็น พอล้มอย่างนี้ ได้พายุโรปกลับไปสู่ยุคเก่าเลย ในฐานะคนที่เคยผ่านยุคสงครามเย็น เรากำลังเห็นการกลับมาของการสะสมอาวุธ และนำไปสู่โอกาสของความตึงเครียด แม้บางคนบอกว่าบริบทของเวลาต่างกัน แต่สถานการณ์นั้นกลับมีนัยยะที่ใกล้เคียง

อีกส่วนหนึ่งคือเราต้องเข้าใจคนยูเครน หลุดจากรัสเซียหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายและเป็นประเทศเอกราชในปี 1991 ถ้าเราเอาปี 1992 เป็นตัวตั้ง 1.ยูเครนดำรงในฐานะประเทศเอกราชแล้ว 3 ทศวรรษ ถ้าถามคนรุ่นหนึ่งว่า อยากลับไปอยู่กับรัสเซียไหม ผมว่าไม่มีใครกลับว่า ยกเว้นคนในโดเนสก์และลูฮานสก์ที่เป็นรัสเซียอพยพในยุคบอลเชวิคก็อาจกลับไปอยู่กับรัสเซีย แต่ถ้าลองถามคนในกรุงคียีฟ พวกเขาก็ไม่อยากกลับไปอยู่กับรัสเซีย

2. ยูเครนมองตะวันตกเป็นอนาคตของเขา เชื่อว่ามีโอกาสสร้างบ้านเมืองของเขา และเชื่อว่าการเลือกอยู่กับตะวันตกจะเป็นโอกาสในการสร้างรัฐบาลที่ประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการหรือำนาจนิยมแบบเก่า

สุรชาติทิ้งท้ายว่า โจทย์พวกนี้ เราเห็นว่าทำไมยูเครนไม่อยากกลับไปรัสเซีย เพราะถ้ากลับไปคราวนี้ยูเครนอาจไม่มีสถานะเป็นประเทศเอกราชได้อีก หรือรัสเซียตัดสินใจไม่ผนวกยูเครนทั้งหมด ยูเครนจะกลายเป็นรัฐบริวารของรัสเซีย เรียกว่าเหมือนกับเบลารุสที่มีลักษณะใกล้ชิดกับรัสเซีย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน