มติเอกฉันท์วินิจฉัยคำร้องของครม.แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรม นูญ หรือกรธ.มีหน้าที่ปรับแก้คำปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้านมีชัยเตรียมประชุมปรับใหม่แล้วส่งให้รัฐบาลอีกครั้ง ป.ป.ช.ยื่นฟ้องศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฟันยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเมื่อครั้งเป็นรองปลัดมหาดไทย ละเว้นคดีที่ดินอัลไพน์ ขณะที่เพื่อไทยบี้ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เล่นงานปลัดคลังเมื่อครั้งเป็นอธิบดีกรมศุลกากรเอื้อเอกชนทำรัฐเสียหายขาดรายได้ 2.1 พันล้านบาท

บิ๊กป้อมปัดทหารห้ามนักข่าว

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 26 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม กล่าวกรณีมีชายแต่งกายคล้ายทหารอ้างผู้ใหญ่สั่งห้าม นักข่าวตรวจสอบคลังสุดใจ จ.ชัยนาท ตามที่บริษัทเอกชนร้องเรียนว่าภายในบรรจุข้าวผิดชนิดกับที่ประมูลได้ว่า “ผมจะไปรู้ได้อย่างไร เพราะไม่ได้อยู่ที่ชัยนาท แล้วผู้ใหญ่ที่ห้ามคนนั้นชื่ออะไร”

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องประสานกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งดูแลในพื้นที่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขอดูรายละเอียดก่อน หากตอบไปผิดสื่อจะว่าตนอีก เพราะยังไม่ได้รับทราบรายงานที่เป็นรายละเอียด เราไม่ได้ห้ามผู้สื่อข่าวในภาพรวม แต่กรณีดังกล่าวห้ามผู้สื่อข่าวไม่ให้เข้าไปนั้น ต้องดูก่อนว่าเพราะอะไร

ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า สถานการณ์ด้านความมั่นคงยังเรียบร้อยดี ไม่มีอะไร ส่วนที่มีผู้ไม่หวังดีสร้างเพจปลอมของนายกฯ นั้นตนไม่ทราบว่าเป็นใคร มีการจดทะเบียนในต่างประเทศหรือไม่นั้นต้องถามฝ่ายความมั่นคง แต่ทราบว่ามีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 โดยติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อนำเสนอโดยหวังให้สังคมเข้าใจผิด

ปปช.ฟ้องยงยุทธคดีอัลไพน์

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำพยานหลักฐานเป็นเอกสารประมาณ 8 ลัง มาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

โดยเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ชี้มูลความผิด กรณีกล่าวหานายยงยุทธ เมื่อครั้งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดิน(ที่จดทะเบียนในนามสนามกอล์ฟอัลไพน์) ที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และเลขที่ 1446 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อันเป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ หรือเรียกว่ากรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์

นัดตรวจพยานหลักฐาน 13 ธ.ค.

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติครม.หรือนโยบายของรัฐบาล เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

โดยวันนี้ศาลพิจารณาคำฟ้องแล้วประทับรับฟ้องคดี เป็นคดีดำที่ อท.38/2559 ไว้พิจารณา พร้อมทั้งสอบคำให้การจำเลย ซึ่งจำเลยแถลงให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวโดยตีราคาประกันเป็นเงินสด 2 แสนบาท พร้อมห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

ถอนคำร้องกรณีศาลปกครอง

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้ถอนคำร้องจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า ป.ป.ช.มีอำนาจชี้มูลความผิดเฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ส่วนการชี้มูลความผิดฐานอื่นนั้นไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เนื่องจากได้พิจารณาในข้อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แล้ว อำนาจในการยื่นคำร้องดังกล่าวยังไม่ค่อยชัดเจน จึงยังไม่ควรยื่นคำร้องตอนนี้ แต่ควรรอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ก่อน และจะดูบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งว่า เป็นอย่างไร จากนั้นสำนักงาน ป.ป.ช.จะดูว่าควรยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจอีกหรือไม่

นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดได้รับคำร้องของสำนักงานป.ป.ช. โดยดำเนินการไต่สวนคดีดังกล่าวใหม่อีกครั้งแล้ว จึงต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ว่า จะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร

ตั้งพรรคต้องมีผู้ริเริ่มไม่ต่ำ 15 คน

ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมกรธ. วาระพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า พิจารณาเสร็จแล้วในส่วนของการจัดตั้งและจดทะเบียนพรรคการเมือง เบื้องต้นกำหนดให้การจัดตั้งดำเนินการได้ เริ่มจากสมาชิก ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 15 คน ไปยื่นรายละเอียดไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พร้อมชำระเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมให้พรรคไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท เพื่อใช้ในกิจกรรมทางการเมือง หากยังมีสมาชิกพรรคไม่ถึง 500 คน ก็ให้สมาชิกผู้ริเริ่มหาสมาชิกให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 คน ภายใน 180 วัน ต่างจากเดิมที่กกต.เสนอให้มีสมาชิกพรรคเริ่มต้น 5,000 คน มีสมาชิกภาคละไม่น้อยกว่า 500 คน

ทั้งนี้ กรธ.ประเมินว่าช่วงก่อตั้งพรรคควรมีเงินทุนดำเนินการ อย่างน้อย 1 ล้านบาท ที่ได้จากสมาชิกผู้ก่อตั้ง และเพื่อเป็นหลัก ที่ทำให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมได้

ยืนยันกรธ.เร่งรัด-เตรียมส่งสนช.

นายอุดมกล่าวว่า ส่วนการสมัครเป็นสมาชิกพรรคนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาสำหรับพรรคขนาดใหญ่ที่มีระบบสมาชิกไว้อยู่แล้ว แต่กรณีพรรคที่จะตั้งใหม่หรือพรรคขนาดเล็ก อาจมีปัญหาเล็กน้อยในขั้นตอนทางทะเบียน อาจต้องมีหลักฐานเอกสารการยินยอม ส่วนการตรวจสอบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคนั้น เจ้าหน้าที่กกต.ที่เข้าร่วมประชุม ระบุว่าไม่มีปัญหา หากพบว่าบุคคลใดมีรายชื่อเป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อนกับพรรคอื่น ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน

โฆษกกรธ. กล่าวว่า นอกจากนี้ กรธ. มีแนวคิดว่าในการดำเนินกิจกรรมของพรรคนั้น จะต้องมีประเด็นด้านสังคมอื่นๆ เพิ่มเติม จากบทบาทของนักการเมือง หรือกิจกรรมเฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่กลไกดังกล่าวต้องพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ประกอบกับการรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ยืนยันว่าการพิจารณากฎหมายลูกของกรธ. อยู่ในระยะเร่งรัดให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อส่งให้สนช.พิจารณาทัน เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ คาดว่าอาจอยู่ในช่วงเดือนพ.ย.หรือธ.ค.นี้

ศาลรธน.ให้กรธ.แก้คำปรารภ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องที่คณะรัฐมนตรีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 5 วรรคสอง กรณีการปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสามารถกระทำได้ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เป็นผู้มีหน้าที่ปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป

เมื่อเวลา 17.30 น. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เปิดเผยว่า กรธ.ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดเวลาและส่งไปให้นายกรัฐมนตรีภายในเวลาที่กำหนด และภายหลังเกิดเหตุเปลี่ยนแปลงโดยไม่คาดฝัน ทำให้ข้อความบางตอนไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขให้ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าให้ กรธ.เป็นผู้แก้ไข คำปรารภ จึงนับเป็นภารกิจเพิ่มเติมที่กรธ.ต้องแก้ไขเพื่อส่งคืนรัฐบาลให้ดำเนินการได้ภายในกำหนดเวลาที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดไว้

‘พรรคทหาร’ลั่นหนุนคสช.

วันเดียวกัน นายสมาน ศรีงาม เลขาธิการพรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทย เปิดเผยว่า ตนกับนายประภาส โงกสูงเนิน เคลื่อนไหวทางการเมืองและสนับสนุนคสช.มาตลอด จึงห่วงว่าเมื่อคสช.ลงจากอำนาจแล้วอาจทำให้การปฏิวัติเสียของ เพราะจะเข้าสู่วังวนเดิมอีกไม่รู้จักจบสิ้น ถึงแม้พล.อ.ประวิตรจะปฏิเสธว่าไม่รู้จักก็ไม่เป็นไร แต่ตนยังยืนยันว่าจะเดินหน้าจัดตั้งพรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทยขึ้นมาอย่างมุ่งมั่น เพื่อปูทางไว้ให้คสช.โอนอำนาจมาให้พรรคบริหารประเทศต่อไปโดยที่ยังไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ส่วนใครที่ว่าจะตั้งพรรคทหารขึ้นมานั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาพรรคทหารของคมช.ยังไปไม่รอด ทำให้การปฏิวัติเสียของ

นายสมานอ้างว่า ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือการโอนถ่ายอำนาจมาให้ประชาชนก่อน โดยมีพรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทยเป็นตัวแทนอำนาจประชาชน ซึ่งอาจมีวิธีโอนถ่ายด้วยการลงประชามติทั่วประเทศ หรือทำในรูปแบบอื่นก็ได้ ซึ่งพรรคนี้เปิดกว้างสำหรับทุกคน ถ้าหากคนในคสช.สนใจจะมาเข้าร่วมก็เชิญได้ ยินดีต้อนรับเสมอ

อัศวินนำทีมรองผู้ว่าฯ พบมท.1

เมื่อเวลา 17.30 น. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังทีมผู้บริหาร กทม. นำโดยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ กทม.และทีมที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เข้าคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่งว่าได้มอบให้ผู้ว่าฯ กทม.ดำเนินงานในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะงานด้านบริการสาธารณะเพื่อคนกรุงเทพฯ เช่น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การแก้ปัญหารถติด เป็นต้น ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงงานพิเศษในขณะนี้คือการจัดการงานที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพ บริเวณท้องสนามหลวง อะไรที่เกี่ยวข้องก็ขอให้ดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ ตนได้บอกกับผู้ว่าฯ กทม.ไปว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยพร้อมให้การสนับสนุน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือกับกทม. ขอเพียงกทม.ประสานมา เรายินดีให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่

สตง.อ้างยังไม่ยุติภาษีหุ้นชิน

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงอธิบดีกรมสรรพากรจะไม่เรียกเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปจากลูกของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า กรมสรรพากรควรหาข้อชัดเจนทางกฎหมาย ก่อนด่วนสรุปว่าจะไม่เรียกเก็บภาษีการขายหุ้น โดยกรมสรรพากรอ้างว่าทั้งหมดได้อยู่ในกระบวนการความผิด เป็นที่มาทำให้ถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทเข้ารัฐไปแล้วนั้น ตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอาญา ที่มีวินิจฉัยว่าทรัพย์สินนี้เป็นของพ่อ ที่โอนมาให้ลูก ได้ทำในลักษณะซุกหุ้น จึงเป็นกรณีทรัพย์สินนี้ไม่ใช่ของลูก ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรโดยตรงต้องเรียกตรวจสอบเอกสารย้อนหลังว่า ระหว่างที่ทรัพย์สินนี้เพิ่มขึ้นและยังไม่ถูกยึดได้เสียภาษีครบถ้วนหรือยัง

ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวว่า สตง.จึงทำหนังสือกระตุ้นให้กรมสรรพากรตรวจจัดเก็บ ภาษีสรรพากร ซึ่งควรทำให้ครบถ้วนด้วยตามประมวลกฎหมายรัษฎากร โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือคตง. มี นโยบายให้ระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรม แม้ทรัพย์สินที่ยึดไปแล้วกรมสรรพากรก็ต้องมีความเห็นด้วยว่าเสียภาษีแล้วหรือไม่ในช่วงก่อนถูกยึด เพราะนั่นคือข้อกฎหมาย ยังไม่ยุติ คตง.จึงมีนโยบายให้หน่วยงานจัดเก็บรายได้ครบถ้วน ทาง สตง.จึงมีหนังสือแจ้งกรมสรรพากรให้เรียกมาตรวจสอบ เพื่อจัดเก็บภาษีให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง

กระตุ้นให้ตรวจสอบย้อนหลัง

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาถ้าตามหลักฐานที่ซื้อขายกันเหมือนเป็นทรัพย์สินของลูก แค่ศาลวินิจฉัยเป็นของพ่อ แต่พ่อไม่ได้เสียภาษี เราจึงกระตุ้นไป เป็นไปตามนโยบายตรวจเงินและเป็นหน้าที่ของสรรพากรไปตรวจสอบย้อนหลัง เพราะตามคำพิพากษาพ่อเป็นเจ้าของตัวจริง ถ้าสรรพากรยังไม่เรียกก็ต้องจัดเก็บ ซึ่งกรมสรรพากรมีอำนาจตามกฎหมาย ต้องไปเรียกตรวจสอบเก็บย้อนหลังจากคนถือทรัพย์สินตัวจริงก่อนถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท เพราะเป็นเรื่องคนละส่วนกัน

“ขอตั้งประเด็นสังคมว่าขณะที่เป็นทรัพย์สินของใคร คนนั้นมีหน้าที่เสียภาษีตามกระบวนการ หลังจากยึดแล้วเป็นอีกเรื่อง ก่อนฟันธงอะไรควรหาข้อยุติก่อน ทาง สตง.ต้องไล่ตามข้อเท็จจริงของทรัพย์สิน เราจำลองเหตุการณ์ ถ้ามีเงินก้อนหนึ่งเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้เสียภาษี วันหนึ่งถูกไฟไหม้ไป ชำรุด ถูกลักขโมยไปแล้วจะยกเว้นภาษีให้ ทำได้ไหม กรมสรรพากรควรศึกษาข้อกฎหมายก่อนด่วนสรุป” ผู้ว่าฯ สตง.กล่าว

บิ๊กตู่แต่งเพลง‘ศรัทธา-ความหวัง’

เว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่เพลง “ความหวังความศรัทธา” ประพันธ์โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน คือ สร้างชาติไทย ทั้งนี้ นายกฯเขียนเนื้อร้องไว้นานแล้วเป็นบทกลอน และให้ดุริยางค์ทหารบกทำดนตรีและร้อง โดยรอออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม มีเนื้อเพลง ดังนี้

ความศรัทธาความหวัง สร้างพลังที่แสนยิ่งใหญ่ ร่วมมือร่วมใจ ก้าวเดินไปสู่ปลายทาง อย่าท้อแท้หวั่นไหว แม้มีทุกข์ภัยขวากหนาม รวมพลังกันก้าวข้าม เพื่อความเป็นไทย สองมือและหนึ่งหัวใจ ของคนไทยทั้งชาติ ร่วมมือกันประกาศ ชาติไทยยิ่งใหญ่ นิรันดร์ ขอเพียงจริงใจ ขอเพียงสามัคคี ตั้งมั่นในความดี ตลอดไป ขอเพียงเชื่อมั่น ขอเพียงมีพลังใจ สิ่งที่หวังไว้ จะกลายเป็นจริง

คปต.เตรียมพาคนกลับบ้าน4พัน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ต.ค. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะประธานคณะผู้แทนพิเศษของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต.ส่วนหน้า เป็นประธานประชุมกลุ่มภารกิจงานที่ 1 งานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยมีคณะผู้แทนพิเศษกลุ่มภารกิจงานที่ 1 ประกอบไปด้วย พล.อ.ปราการ ชลยุทธ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ และ พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ เข้าร่วมประชุม

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้นโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะการประสานงานทุกระดับ และแนะนำส่วนราชการต่างๆ ได้ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้บูรณาการหลายหน่วยงาน เช่น โครงการนำผู้หลงผิดกลับสู่สังคมที่เกี่ยวพันกับหลายส่วน ซึ่งมีข้อคิดเห็นกรอบพื้นที่ และรายชื่อที่เข้ามาในโครงการพาคนกลับบ้าน ขณะนี้มีประมาณ 4,000 คน ซึ่งต้องมีลำดับความสำคัญว่าจะต้องดูแลใครก่อนหลัง เพื่อเร่งดำเนินการต่อไป

“เราต้องให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกคนไม่ว่าจะเป็น ผบ.ทบ. แม่ทัพภาคที่ 4 รวมถึงการดูแลงานด้านการข่าว แต่ก็เกิดเหตุซึ่งน่าเสียใจ อาจเป็นช่องโหว่ของเจ้าหน้าที่บ้าง แต่ก็เน้นย้ำให้ดูแลให้ดีที่สุด อย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำในพื้นที่เขตเมืองและชุมชนและถนนเส้นหลักอีก ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งพื้นที่ชนบท และถนนเส้นรองต่างๆ เราต้องดูแลให้ทั่วถึง โดยจะกำกับดูแลเร่งรัดหน่วยปฏิบัติ และพยายามไม่ให้เกิดช่องว่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” พล.อ.อุดมเดชกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน