“ทวี” ชี้ทางออกแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ 4 ด้าน ผลักดัน “รัฐสวัสดิการ” ประกาศนโยบายพรรคประชาชาติ แก้ 5 อ. ร่วมขจัดความอยุติธรรม

วันที่ 2 พ.ค.65 มีการจัดเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงประชาชน” ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน : รัฐสวัสดิการ สิทธิในที่อยู่ สิทธิสุขภาพ สิทธิแรงงาน” ที่อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ภายในงานมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมเวทีอย่างคึกคัก เช่น นายเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล สัดส่วนปีกแรงงาน, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ, นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, ดร.ประวัฒน์ อุตโมท รองประธานคณะกรรมการบริหารพรรคไทยสร้างไทย, ดร.บุญส่ง ชเลธร รองเลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ฝ่ายวิชาการ, นางรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค, นิศารัตน์ จงวิศาล ตัวแทนพรรคสามัญชน, ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย และตัวแทนจากพรรคเศรษฐกิจไทย

พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งว่า นโยบายของพรรคประชาชาติให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการทุกเรื่อง เพราะเห็นว่าการแก้ปัญหาของชาติในปัจจุบัน ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนได้ นอกจากการนำรัฐสวัสดิการมาใช้ แต่ก่อนอื่นต้องมีการปรับโครงสร้างของประเทศ ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะงบประมาณไม่ได้ถูกกระจายเข้าไปในท้องถิ่นและชุมชน

นโยบายการศึกษาของพรรคประชาชาติคือ การเรียนฟรีมีคุณภาพถึงปริญญาตรี ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 54 วรรค 6 บัญญัติว่า เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้รัฐบาลจัดกองทุนให้ผู้ยากไร้ ปรากฏว่า รัฐบาลไปจัดตั้ง “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ขึ้นมา แต่กลับไปใช้กับการเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งมีเงินอยู่แล้ว

ส่วนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ในยุคอำนาจนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดิมดอกเบี้ย 1 สลึง ปรากฏว่า มาแก้ตอนปี 2560 ให้เป็น 7.5 บาท (ร้อยละ 7.5) บวกเบี้ยปรับอีก 18 บาท (ร้อยละ 18) เป็น 25.50 บาท (ร้อยละ 25.50) คือไปหากินกับคนที่ต้องการจะมีอนาคต

สำหรับสวัสดิการถ้วนหน้า มีให้อย่างเดียวคือ “ข้าราชการ” ที่ได้สิทธิ์รักษาพยาบาล ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ควรมีการควบรวมบัตรสวัสดิการต่างๆ ของประชาชน ซึ่งได้มีการศึกษาแล้วว่าสามารถทำได้ อีกทั้งก่อนหน้านี้พรรคได้เคยเสนอ “บำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท” เมื่อปี 2563 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตีตก แล้วขณะนี้มาผลักดัน “บำนาญถ้วนหน้า”

“จุดเริ่มต้นของปัญหา คือ ประเทศเคยมีกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อถูกเปลี่ยนเป็นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กระทรวง พม.) ขึ้นมา คนเหล่านี้มักจะมองคนไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องแสดงความเดือดร้อนก่อน ถึงจะได้รับการสงเคราะห์ ส่วนเรื่องที่อยู่อาศัย หากพรรคฝ่ายค้านได้เป็นรัฐบาล จะต้องจัดสรรที่อยู่ให้กับประชาชน เพราะมีที่ดินว่างเปล่าจำนวนมากที่สามารถทำได้” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า การจะแก้ปัญหาของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ 4 ด้าน ทั้งรายได้ ศักดิ์ศรี พื้นที่ และความยุติธรรม มีวิธีการเดียวคือจะต้องผลักดันให้เป็น “รัฐสวัสดิการ” ต้องมีสวัสดิการถ้วนหน้าให้ประชาชนอย่างเสมอภาค

“ปัญหาอุปสรรคของรัฐสวัสดิการ มันติดอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีคำที่เขียนไว้ว่า ‘ความมั่นคงของรัฐ’ / ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี’ / ‘เป็นภัยต่อสาธารณะ’ / ‘เป็นผู้ยากไร้’ 2 แล้วก็คำว่า ‘ตามที่กฎหมายบัญญัติ’ ทั้งหมดเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เมื่อเขียนไว้เช่นนี้แล้ว อย่าคิดเลยว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ เพราะรัฐสวัสดิการคือสิทธิต้องเสมอกัน เช่น 3,000 บาทบำนาญถ้วนหน้า รวยที่สุดถึงจนที่สุดก็ต้องได้ 3,000 บาทเท่ากัน เราไม่แบ่งแยกคน”

พ.ต.อ.ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า พรรคประชาชาติเสนอว่า ต้องแก้ที่ 5 อ.ให้ทุกคนมีครบ คือ 1.อาหาร 2.อาชีพ 3.อนามัย 4.โอกาส 5.อัตลักษณ์ ส่วน 1 อ. ที่จะต้องไม่มีในสังคมคือ ความอยุติธรรม หรือความไม่เป็นธรรม เพื่อแก้ปัญหาวันนี้ เราหนีไม่พ้นแล้วที่ต้องมีรัฐสวัสดิการ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน