ครม.เห็นชอบ ร่างแผนพัฒนาประชากร พัฒนาประเทศระยะยาว สั่งสภาพัฒน์ รับมือเด็กยุคใหม่ เจนอัลฟ่า อยู่กับเทคโนโลยีเยอะ ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น อาจไม่เคารพกัน

วันที่ 17 พ.ค.2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้เห็นชอบร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ได้หาทางรับมือกับการการเพิ่มขึ้นของประชากรเจเนอเรชั่นอัลฟ่า ซึ่งเกิดในช่วงปี 2553 เป็นต้นไป

เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้ใช้ชีวิตตามความต้องการของตัวเอง เนื่องจากมีพลังความรู้ความสามารถที่มาก ขณะเดียวกันก็มีความสนใจที่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์ให้โลกนี้ดีขึ้น แต่การอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้คนกลุ่มนี้ขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อมนุษย์คนอื่นเท่าที่ควร ทำให้มีความเข้าใจระหว่างกันน้อยลง ไม่เคารพซึ่งกันและกัน จึงจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องหาแนวทางตั้งรับอย่างเหมาะสม

ดังนั้นจึงมีกรอบแนวทางการพัฒนาประชากรให้ความสำคัญกับ 3 ด้าน ได้แก่ การเกิดอย่างมีคุณภาพ การอยู่อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และการแก่และตายอย่างมีคุณภาพ โดยต้องมีวาระการพัฒนาบนฐานของกระบวนทัศน์ใหม่และคำนึงถึงอิทธิพลของเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และเจเนอเรชั่น ที่จะส่งผลให้การดำรงชีวิตของประชากรในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต

ทั้งนี้ร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและการเลี้ยงดูบุตร, การพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร, การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน, การสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายของชีวิต, การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัยและการบริหารจัดการด้านการย้ายถิ่น

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โดยจะแบ่งลำดับความสำคัญในการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน เน้นการจัดการกับปัญหาที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มุ่งให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เยียวยาครอบครัวที่เปราะบางและผู้ว่างงาน

ส่วนระยะยาว มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวคุณภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาประชากรรุ่นถัดไปให้มีคุณภาพและการเสริมความแข็งแกร่งของระบบการดูแลคนรุ่นพ่อแม่เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง ตามแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่ สุขภาวะดี มีงานทำ”

สำหรับภาพอนาคตประชากรไทยระยะยาวสรุปได้ดังนี้คือ ประชากรรวมจะยังคงเพิ่มขึ้นและจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2571 ที่มีจำนวนสูงสุดที่ 67.19 ล้านคน จากนั้นตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป จำนวนประชากรรวมจะลดลง และในปี 2580 วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 14.3 แต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.85 และในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากโครงสร้างประชากรวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคนในทุก 10 ปี ในขณะที่ความต้องการแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 37.55 ล้านคนในปี 2560 เพิ่มเป็น 44.71 ล้านคนในปี 2580

ทางออกหนึ่งคือ การใช้ระบบอัตโนมัติทดแทนแรงงาน นอกจากนี้สัดส่วนผู้สูงอายุหญิงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเพศหญิงมีอายุยืนกว่าเพศชาย และผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีระดับการศึกษาต่ำ ขณะที่อัตราสูงวัยในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน