ศาลปค.สูงสุด พิพากษาสั่ง อบจ.สงขลา ชดใช้เงิน 52 ล้านบาท ให้บริษัทพลวิศว์ฯ จากเหตุ ‘นิพนธ์’ ละเว้นไม่จ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ชนิด 10 ล้อ 2 คัน

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ชำระเงิน 52,062,041 บาท ให้แก่บริษัทพลวิศว์ เทค พลัส จำกัด พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 50,850,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เม.ย.64 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงิน 50,850,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.64 จนกว่าจะชำระเสร็จ

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากปี 2556 นายนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.ขณะนั้น ละเว้นไม่เซ็นจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ชนิด 10 ล้อ จำนวน 2 คัน เป็นเงิน 50,850,000บาท ให้แก่ บริษัทพลวิศว์ฯ คู่สัญญา ทั้งที่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับรถทั้งสองแล้ว และเห็นว่ามีปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วน ทำให้บริษัทพลวิศว์ฯ ได้รับความเสียหาย และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา ขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้อบจ.สงขลา ชำระเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ดังกล่าวและชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 73,504,023 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 50,850,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ อบจ.สงขลา ชดใช้ ระบุเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัทพลวิศว์ฯ ได้ส่งมอบรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์จำนวน 2 คันตามสัญญาให้กับอบจ.สงขลาวันที่ 8 ต.ค 56 คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ทำการทดสอบและตรวจรับรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ดังกล่าว ซึ่งไม่ปรากฏว่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ที่บริษัทพลวิศว์ฯ ส่งมอบมีข้อบกพร่องหรือไม่ถูกต้องตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในสัญญา

ต่อมาบริษัทพลวิศว์ฯ ได้จดทะเบียนรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดสงขลา และส่งมอบคู่มือจดทะเบียนพร้อมป้ายทะเบียนรถยนต์ให้กับอบจ.สงขลา ซึ่งถือว่า บริษัทพลวิศว์ฯ ได้ปฏิบัติตามสัญญา อบจ.สงขลา จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาซื้อขายสัญญาเลขที่ 22/2556 ลงวันที่ 31 พ.ค 56 เป็นเงิน 50,850,000 บาท

ทางบริษัทพลวิศว์ฯ มีหนังสือลงวันที่ 19 ก.พ 57 เรื่องให้ อบจ.สงขลา ชำระเงินตามสัญญาภายใน 21 ก.พ.57 เมื่ออบจ.สงขลาไม่ได้ชำระหนี้ภายในวันดังกล่าว จึงถือว่าอบจ.สงขลา ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่ 22 ก.พ.57 ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บริษัทพลวิศว์ฯ จึงมีสิทธิ์เรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 50,850,000 บาทนับตั้งแต่ 22 ก.พ-17 มิ.ย.57 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีเป็นเวลา 116 วัน คิดเป็นดอกเบี้ย 1,212,041 บาท อบจ.สงขลาจึงต้องชำระเงินให้แก่บริษัทพลวิศว์ฯ 52,062,041 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 50,850,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ส่วนที่อบจ.สงขลา อุทธรณ์ว่า สัญญาพิพาทเป็นโมฆะเนื่องจากบริษัทพลวิศว์ฯ กับบริษัทเอส พี เค ออโต้เทค จำกัด มีการตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้มีสิทธิ์ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เห็นว่า คณะประมูลซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ปรากฏว่า นายอิทธิพล ดวงเดือน กรรมการผู้จัดการของ บริษัทพลวิศว์ฯ มีความสัมพันธ์กันในเชิงบริหารหรือเชิงทุนที่สามารถใช้อำนาจบริหารจัดการกิจการของบริษัทเอส พี เค ออโต้เทค จำกัด ที่ร่วมเสนอราคาประมูล ซื้อพิพาท หรือมีความสัมพันธ์ในลักษณะไขว้กันระหว่าง 2 บริษัทดังกล่าว

อีกทั้งการเสนอราคาของ 2 บริษัท ก็เสนอต่างกัน 50,000 บาทและเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ อบจ.สงขลา กำหนดวงเงินเริ่มต้นประมูลไว้คือ 51 ล้านบาท โดยไม่มีส่วนที่แสดงให้เห็นว่า เป็นราคาที่สมยอมกัน อันเข้าลักษณะเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 อุทธรณ์นี้จึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น การที่ศาลปกครองสงขลา พิพากษาให้อบจ.สงขลา ต้องชดใช้ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว เป็นผลให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายนิพนธ์ และคดีอยู่ระหว่างอัยการสูงสุด พิจารณาส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะเดียวกันรมว.มหาดไทย มีคำสั่งปลดนายนิพนธ์ พ้นจาก นายก อบจ. ส่งผลให้ขณะนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ สิ้นสุดลงหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน