“เรืองไกร” ร้อง “ชวน” สอบญัตติซักฟอกฝ่ายค้านชอบด้วยกฎหมาย-ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ แฉ ญัตติก่อนลงนามมีสองฉบับ จ่อร้อง ปปช.สอบอีกทาง

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 11 คน ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ม.151 หรือไม่ เพราะเมื่อแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่าญัตติของฝ่ายค้านก่อนลงนามมีสองฉบับ คือ ฉบับไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 10 คน กับฉบับไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 11 คน และทั้งสองฉบับลงวันที่ 15 มิ.ย.เหมือนกัน จึงเป็นพิรุธน่าสงสัย

เพราะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ว่า “เมื่อเราเขียนญัตติเสร็จวันที่ 14 มิ.ย. รายชื่อของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ยังไม่ได้เข้าไป บางพรรคก็เซ็นชื่อวันที่ 14 มิ.ย. และในวันที่ 15 มิ.ย. ก็มีการเก็บตกลายเซ็น ส.ส.ที่ต้องเข้าชื่ออีกครั้ง ในช่วงเวลา 11.00 น. ยังมีการแก้ไขญัตติอยู่ ก่อนที่จะยื่นญัตติต่อนายชวน ประธานสภาฯ ในเวลา 13.00 น.”

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า จากคำให้สัมภาษณ์ของนพ.ชลน่านดังกล่าว เชื่อได้ว่าญัตติที่เขียนเสร็จเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. และให้บางพรรคเซ็นชื่อในวันเดียวกันนั้น ยังไม่มีรายชื่อนายสุชาติ การเก็บตกลายเซ็น ส.ส.ดังกล่าว เป็นการลงนามตามญัตติที่ทำเสร็จเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. แต่ญัตติที่ยื่นต่อนายชวน เป็นญัตติที่มีรายชื่อรัฐมนตรีรวม 11 คน จึงน่าเชื่อว่าเป็นญัตติที่ทำขึ้นใหม่ มีการเพิ่มชื่อนายสุชาติเข้ามา แต่น่าจะใช้บัญชีรายชื่อเดิม ไม่ได้ทำขึ้นใหม่ เพราะนพ.ชลน่านยอมรับสารภาพแล้วว่า ในช่วงเวลา 11.00 น.ยังมีการแก้ไขญัตติอยู่ ก่อนที่จะยื่นนายชวนเวลา 13.00 น. จึงน่าเชื่อได้ว่ามีการเพิ่มชื่อนายสุชาติเข้ามาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ระหว่างเวลา 11.00-13.00 น.

ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากมี ส.ส.เซ็นชื่อในญัตติ 10 คน ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. จึงมีเหตุที่ต้องตรวจสอบว่า ญัตติที่ทำขึ้นใหม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ม.151 หรือไม่ เพราะการแก้ไขญัตติโดยเพิ่มรายชื่อเข้ามาใหม่ และยังมีการแก้ไขเนื้อหาอีกหลายที่ จนทำให้ญัตติฉบับ 10 คนที่มีเพียง 4 แผ่น กลายเป็นญัตติฉบับ 11 คน ที่มี 5 แผ่น แต่ใช้รายชื่อส.ส. ที่นพ.ชลน่านกล่าวว่าลงนามไว้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. สำหรับญัตติ 10 คน มาแนบเป็นบัญชีแนบท้ายญัตติ 11 คน กรณีนี้จึงมีเหตุต้องตรวจสอบว่า ญัตติที่ทำใหม่ แต่ใช้รายชื่อที่แนบญัตติเก่ามาแนบนั้นชอบหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า เรื่องนี้น่าจะไม่ชอบ หากเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 หน้า 24 ที่ระบุว่า “โดยไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่าการดำเนินการในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้ เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วรรคหนึ่ง (1)”

จึงมีประเด็นปัญหาตามมาว่า ญัตติใหม่ที่ใช้รายชื่อที่ลงนามไว้เดิมมาแนบนั้นชอบหรือไม่ ซึ่งหากเทียบแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 15-18/2556 อาจจะทำให้ญัตติ 11 คน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ม.151 เพราะอาจถือเป็นญัตติที่ยังไม่มีบัญชีรายชื่อแนบท้ายนั่นเอง ด้วยมูลเหตุข้างต้น จึงต้องร้องนายชวนให้ตรวจสอบญัตติฝ่ายค้านที่ยื่นอภิปรายรัฐมนตรี 11 คน ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ม.151 หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม รัฐธรรมนูญ ม.234(1) หรือไม่ และเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ข้อ 8 หรือไม่ โดยเรื่องนี้จะยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน