สุพัฒนพงษ์ แจงสภาวุ่น ให้ใช้เตาอั้งโล่ แค่อยากรณรงค์ประหยัดพลังงาน ไม่ได้ให้ใช้แทนแก๊สหุงต้ม เพื่อไทยซัดรัฐบาล หยุดซื้ออาวุธ เก็บเงินพยุงวิกฤตน้ำมัน

เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 23 มิ.ย.2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดของ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ถามนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ถึงปัญหาพลังงาน

นายครูมานิตย์ กล่าวว่า วันนี้ประชาชนเดือดร้อนจากราคาน้ำมัน ลามไปถึงแก๊ส และไฟฟ้า ซึ่ง นายสุพัฒนพงษ์ เคยเป็นลูกหม้อพลังงาน และใกล้ชิดกับนายกฯ ท่านต้องรู้ดี จึงควรหาทางแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น แต่กลับตอบว่า พยุงเงินกองทุนน้ำมันหมดไปแล้ว จะไปขอจากโรงกลั่นแล้วขอได้หรือไม่

นายครูมานิตย์ กล่าวว่า นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่ากลไกราคาน้ำมันให้เป็นไปตามตลาดโลก ถ้าแพงมาก็ขายแพงไป แล้วไม่ต้องยกตัวอย่างประเทศลาว วันนี้ไทยไม่น่าต้องแข่งขันกับลาว ส่วนกองทุนส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ที่เอาไปให้นายกฯ ใช้บริหารประเทศ ทำไมไม่เรียกเงินกองทุนเหล่านี้มาพยุงกองทุนน้ำมันให้ถูกลง ด้าน ปตท.ที่รัฐบาลมีหุ้นส่วนมากที่สุด และยังโชว์ภาพว่าเป็นความภาคภูมิใจที่มีบริษัทน้ำมันเป็นของตัวเอง และสร้างกำไรมหาศาล แต่ในยามวิกฤต เงินของประชาชนทั้งหมดที่ได้กำไรมา ทำไมไม่ตัดส่วนที่เป็นกำไรเพื่อคืนกลับมาลดค่าน้ำมัน

ผมเชื่อว่าในโลกนี้ยังมีบางประเทศที่เป็นเจ้าของบ่อน้ำมัน และขายน้ำมันในราคาถูก ทำไมใช้วิธีทางการทูตเจรจาซื้อน้ำมันราคาถูก เพราะอย่างไรต้องเอาคนไทยให้รอดก่อน อย่ามาบอกให้กลับไปใช้เตาอั้งโล่ ใช้ถ่าน และใช้ฟืน ไม่เช่นนั้นไทยจะกลับไปสู่ยุคเก่า นี่คือซูเปอร์เดือดร้อน แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลชอบใช้คำว่า วินวิน ไม่รู้ว่า วินระหว่างรัฐบาลกับนายทุน หรือ รัฐบาลกับประชาชน วันนี้ งบประมาณ ยังมีการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งที่ ควรนำงบมาไว้ใช้เพื่อพยุงราคาพลังงานและน้ำมัน เพราะวันนี้เดือดร้อนทั้งแผ่นดินจริง” นายครูมานิตย์ กล่าว

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า อยากให้เห็นว่ารัฐบาลได้ช่วยเหลือประชาชน หากย้อนไปถึงการชี้แจงของตนเมื่อปลายปีที่แล้ว จะเห็นว่าสถานการณ์พลังงานในตลาดโลกแย่ลงกว่าเดิม เพราะช่วงนั้นเป็นเพียงระดับความต้องการปริมาณพลังงานสูงขึ้น และกำลังการผลิตตามไม่ทัน แต่สถานการณ์ตอนนี้เป็นไปมากกว่านั้น เพราะกำลังการผลิตของโรงกลั่น ได้ขาดหายไปในช่วงโควิด-19 และหลายโรงกลั่นต้องปิดตัวลง ทั้งยังมีอุบัติเหตุซ้ำเติม คือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปก็ขยับสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันดิบ

เราต้องยอมรับว่าเรานำเข้ากว่า 90% รัฐบาลจึงต้องประคับประคอง และพยายามรักษาเสถียรภาพให้ได้มากที่สุด เช่น นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการคุมราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 35 บาท ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนามจากเดิมราคา 29 บาทต่อลิตร วันนี้ 46 บาทต่อลิตร ตนเข้าใจดีว่าน้ำมันดีเซล มีผลกระทบต่อประชาชน ไม่เช่นนั้น รัฐบาลทุกยุคต้องรักษาราคาน้ำมัน แต่เรายังต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมให้เดินฝ่าในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อยังสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม ต่างประเทศยังมั่นใจว่า การทำนโยบายแบบนี้ยังดูแลคนกลุ่มเปราะบาง และรักษาเสถียรภาพของระบบได้ สำคัญที่สุดการรักษาเสถียรทางการเงินและการคลัง

นายสุพัฒนพงศษ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซล 11 บาทต่อลิตร และกระทรวงการคลังยังลดภาษีสรรพสามิตอีก 5 บาทด้วย ส่วนเรื่องเงินจากกองทุนส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ก็ต้องส่งคืนเข้าคลัง เพื่อให้เป็นงบประมาณ

ส่วนเรื่อง ปตท. ทางกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 62 % ซึ่งกำไรดูเหมือนเยอะ แต่ต้องกันเงินประมาณครึ่งหนึ่งเอามาเป็นเงินปันผล และถือเป็นเงินได้ของแผ่นดิน ตามสัดส่วนของการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง ฉะนั้น เราอาจจะเห็นเหมือนมีกำไรเยอะ แต่ความจริงต้องหักเงินปันผล ส่วนที่เหลืออีก 10 กว่า% ต้องเก็บเพื่อรักษาบำรุงเครื่องยนต์ และรักษาเสถียรภาพของกระทรวงฯ ทั้งนี้ หลายครั้งที่ขอความขอความช่วยเหลือ ทาง ปตท. ก็ไม่เคยขัดข้อง

ทุกประเทศเจอปัญหาเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกประเทศทำคือ การรณรงค์เพื่อประหยัดพลังงาน ซึ่งการประหยัดพลังงาน ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน 10% สามารถประหยัดได้เป็นแสนล้านบาท โดยกระทรวงพลังงานพยายามทำเต็มที่ เราช่วยกันได้ ส่วนเรื่องเตาอั้งโล่ อาจเป็นเรื่องของการสื่อสาร และการขยายผลของคนเมือง แต่กระทรวงพลังงานเห็นประชาชนจำนวนหนึ่ง ยังใช้ถ่านอยู่ยังมีอยู่มาก เช่น คนชนบท การเสนอแนวทางให้ประหยัดพลังงาน จึงเป็นการเสนอซ้ำในสิ่งที่เคยทำมา แต่ไม่ใช่การให้ใช้เตาอั้งโล่ทดแทนแก๊สหุงต้ม” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน