สภาหุ่นยนต์! ไอลอว์ ตรวจสอบการทำงาน ส.ว. พบลงมติเหมือนกัน ไม่มีแตกแถวถึง 98% ชี้ทำหน้าที่ตามใบสั่ง เผยทำงานสามปี ใช้งบไปแล้ว 2,000 ล้าน

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2565 โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เปิดรายงานตรวจสอบการทำงานพิจารณากฎหมายของส.ว.แต่งตั้ง ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2563 ถึงวันที่ 13 มิ.ย. 2565 พบว่า ส.ว. ลงมติเกี่ยวกับร่างกฎหมายไปในทิศทางเดียวกันถึง 98% (โดยเฉลี่ย) ไม่ว่าจะเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หากผู้เสนอเป็นครม. หรือพรรคฝ่ายรัฐบาล

จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อย่างถล่มทลาย แม้ร่างกฎหมายนั้น จะได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. ไม่ถึง 60% เช่น การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวีธีพิจารณาความแพ่งในวาระที่หนึ่ง ส.ส. มีมติเห็นชอบ 181 เสียง ไม่เห็นชอบ 151 เสียง และ งดออกเสียง 2 เสียง หรือมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบเพียง 54.19% ในขณะที่ ส.ว. มีมติเห็นชอบ 179 เสียง ไม่เห็น 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง หรือมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบถึง 99.44%

แต่หากเป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน การลงมติของ ส.ว.ก็มีแนวโน้มจะไม่เห็นชอบอย่างถล่มทลาย เช่น ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ส.ส.มีมติเห็นชอบ 417 เสียง ไม่เห็นชอบ 9 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ซึ่งมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบคิดเป็น 96.98% แต่วุฒิสภากลับมีเสียงเห็นชอบเพียง 3 เสียง ไม่เห็นชอบ 196 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ซึ่งมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบคิดเป็น 1.43%

หรือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคก้าวไกล สภามีมติเห็นชอบ 412 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ซึ่งมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบคิดเป็น 96.71% แต่ทว่า วุฒิสภากลับมีเสียงเห็นชอบเพียง 6 เสียง ไม่เห็นชอบ 192 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ซึ่งมีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบคิดเป็น 2.87%

ปรากฎการณ์ที่ ส.ว. ลงมติผ่านกฎหมายจากรัฐบาลและคัดค้านกฎหมายจากฝ่ายค้านไปในทิศทางเดียวกัน อย่างถล่มทลายไม่มีแตกแถว สะท้อนว่า ส.ว. เป็น “สภาหุ่นยนต์” คอยทำหน้าที่ตามใบสั่งจากผู้มีอำนาจและขัดขวางการทำงานของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยคสช.

นับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2563 ถึง 13 มิ.ย. 2565 ส.ว.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ในวาระที่สาม ไปแล้ว อย่างน้อย 30 ฉบับ โดยลงมติไปในทิศทางเดียวกันคือ เห็นชอบ อยู่ที่ 97.34% (โดยเฉลี่ย) ขณะที่ผลการลงมติร่างกฎหมายในวาระสามของ ส.ส. มีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันอยู่ที่ 92.61% (โดยเฉลี่ย) ซึ่งหมายความว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง มีการลงมติที่เป็นเอกภาพกว่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า เหตุที่ทำให้การลงมติในวาระที่สามของ ส.ว. มีสัดส่วนการลงมติเห็นชอบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.แทบทั้งหมดเป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยครม. หรือพรรครัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ถูกพรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายรัฐบาลด้วยกันวิจารณ์อย่างหนัก หนึ่งในประเด็นสำคัญ คือการปรับลดงบของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่เป็นหน่วยงานด่านหน้ารับมือโควิด-19 จนเกิดวาทะจาก ส.ส.พรรคภูมิใจไทยถึง นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและรมว.สาธารณสุขว่า “ถ้าเขาไม่รัก ก็กลับบ้านเราเถอะครับ”

ท้ายที่สุดร่างกฎหมายดังกล่าวก็ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปด้วยสัดส่วนเสียงเห็นชอบน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับ ร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมด 30 ฉบับ ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา แต่เมื่อถึงคราวที่ ส.ว.ลงมติ ส.ว. ก็ยังคงลงมติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันอย่างไม่ค่อยแตกแถวถึง 98.52%

จากผลงานการทำงานของ ส.ว. ที่ไม่ได้ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่าที่ควร นำไปสูคำถามสำคัญถึง “ความคุ้มค่า” เพราะถ้าดูจากหนังสือคู่มือชื่อ “สิทธิประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ” ฉบับที่ตีพิมพ์เดือนเม.ย. 2562 จะพบว่า เงินงบประมาณต้องนำมาใช้กับทั้งเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ ส.ว. ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วยประจำตัว ข้าราชการฝ่ายการเมือง ของวุฒิสภา และคณะทำงานทางการเมือง ถ้ารวมจำนวนเงินงบประมาณในช่วงเวลา 3 ปีที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทน ส.ว. และตำแหน่งเพื่อสนับสนุนการทำงานของ ส.ว.ทั้งหมด 2,230,569,000 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน