ส.ว.ชงจ่ายค่าเดินทางกาบัตร 500 บาท แก้ขายเสียง “กิตติศักดิ์” แฉ บางพรรคเหมา ส.ส. ด้วยกล้วย 80 กก. อดีตกกต. ลั่น ได้เห็นชาตินี้ไม่ซื้อเสียงเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 ม.ค. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาผลการศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เป็นประธานกมธ.

มีสาระสำคัญที่เป็นข้อเสนอหลายเรื่อง อาทิ กรณีการแก้ปัญหาซื้อเสียง จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์เลือกตั้งซ่อมและเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา พบการเลือกตั้งทุกระดับไม่สุจริตเที่ยงธรรม จึงมีข้อเสนอ อาทิ กำหนดให้ภาครัฐมีค่าพาหนะแก่ประชาชนที่เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนละ 500 บาท ใช้งบประมาณรวม 20,000 ล้านบาท สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 40 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและจูงใจประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ช่วยให้เกิดแนวคิดตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน แทนการตอบแทนนักการเมือง ให้การใช้สิทธิเลือกตั้งได้คนดี มีคุณธรรม จริยธรรม

การแก้ไขกฎหมายกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รับเงินซื้อเสียง ไม่ถือเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้กล้าเป็นพยานชี้ตัวคนทำผิดมาลงโทษ การมีมาตรการคุ้มครองพยานและรางวัลนำจับผู้แจ้งเบาะแสซื้อเสียง การกำหนดมาตรการหรือบทลงโทษที่ชัดเจน กรณีพรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้ การกำหนดมาตรการหรือบทลงโทษ ส.ส. หรือสมาชิกรัฐสภาละเลยหน้าที่โดยเฉพาะการประชุมสภาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ อภิปรายสนับสนุนเนื้อหาในรายงาน พร้อมแสดงความกังวลต่อการเลือกตั้งที่เป็นธุรกิจการเมือง ใช้เงินซื้อเสียง ขณะที่การทำงานของ กกต. โดยเฉพาะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ไม่มีความรู้ และไม่สามารถควบคุมการเลือกตั้งที่สุจริตได้ จึงมีข้อเสนอให้ กกต. ปรับวิธีทำงาน โดยเฉพาะการจับตาหัวคะแนนนักการเมืองที่เป็นผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. อภิปรายว่า การซื้อเสียงเป็นประเด็นใหญ่ที่ กมธ.พิจารณาศึกษา ขณะนี้ใกล้ถึงวันเลือกตั้ง ในสภาฯ ทั้งมีข่าว ทั้งภาพเสียง ได้เห็นว่านักการเมืองนั้นเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ทั้งการย้ายพรรค การเหมา ส.ส.ด้วยกล้วยน้ำหนักมากมาย บางพรรคแจกกล้วย 80 กิโลกรัม ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าเป็นเงินเท่าไหร่

นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องการซื้อเสียงตนไม่อยากให้โทษประชาชนที่รับเงินจากส.ส. แต่เราต้องพัฒนากติกาเลือกตั้ง ความรู้เบื้องต้น สร้างคนดี ให้รู้จักพิษภัยของการย้ายพรรค และการรับกล้วย เพราะเมื่อจะเลือกตั้ง ในพื้นที่ก็ไปแจกกล้วยเล็กๆ น้อยๆ ให้ประชาชน เมื่อเป็นส.ส. และรัฐมนตรี จะไม่หากล้วย หรือต้องถอนทุนได้อย่างไร เราจึงต้องแก้คนที่จะมาทำการเมืองก่อน อะไรๆ ก็แจกกล้วย แล้วจะให้ประชาชนคิดอย่างไร

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่มีนักการเมืองท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) มาบอกตนว่า ประเด็นที่จะแก้รัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นร้อนแรง จึงขอฝากด้วยว่าเมื่อจะแก้รัฐธรรมนูญ ในมาตรา 158 เรื่อง 8 ปีนายกฯ ก็ช่วยปลดล็อก นายก อบจ. นายก อบต. และนายกเทศมนตรี ให้ไม่ต้องจำกัด 2 วาระ

นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อครบอายุ 60 ปี แล้วสามารถต่ออายุได้อีก เพราะบางคนยังแข็งแรงและสามารถทำงานได้ อาจจะต้องต่อไปอีก 4 ปี ได้หรือไม่ หรือถ้าเป็นคนดี จะเป็นไปจนถึงอายุ 80-90 ปี ก็ยังได้ ตนจึงคิดว่าหากมีการแก้รัฐธรรมนูญ ในรัฐบาลต่อไป ตนจะนำเสนอปลดล็อกตามที่เสนอมา

ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ส.ว. และอดีต กกต. ในฐานะกมธ. ชี้แจงว่า เรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ต่างจังหวัดรับว่ามีการทุจริตจริง และการเลือกตั้งที่ต่างประเทศ จนเกิดบัตรเลือกตั้งมาถึงช้า สามารถแก้ได้เมื่อกระทรวงการต่างประเทศ ให้มีการนับคะแนนที่ต่างประเทศด้วย เพราะเมื่อบัตรเลือกตั้งส่งไม่ทันปิดหีบให้ถือว่าบัตรเสีย ทำให้คะแนนตกน้ำไป

“ส่วนการตรวจจับการซื้อเสียงทำได้ยาก ความจริงตามกระบวนการ พยายามทำทุกอย่าง ทั้งการคุ้มครองพยาน การให้ค่าข่าว แต่การรับรู้ของประชาชนมีน้อย จึงมีการเสนอให้ติดป้ายหน้าหมู่บ้านว่า หากให้ข้อมูลและหลักฐาน จะได้รับเงิน 1 แสนบาท ทุกอย่างมีกฎหมาย ขาดแต่ความร่วมมือของประชาชน และการมีความรู้ความเข้าใจ” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนชาตินี้จะเห็นการเลือกตั้งที่ไม่มีซื้อเสียงหรือไม่ คำตอบคือจะได้เห็น เมื่อมีคดีเกิดจะมีการให้ใบเหลืองใบแดง และการให้ค่าข่าว แต่ระยะยาวที่ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) ของกกต. ทำที่ผ่านมาคือ การให้ประชาชนมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย คือต้องรับรู้ว่าคนที่ซื้อเสียง เมื่อเข้ามาเป็นจะไปทุจริต ต้องมีจิตสาธารณะ การเคารพกฎระเบียบ และการเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่ใช่ปิดถนน ปิดล้อมไปหมด หากทำได้ตามที่กล่าว จะได้เห็นในชาตินี้ ว่าการเลือกตั้งแบบไม่ใช้เงินคืออะไร

ส่วนนายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. อภิปรายว่า ขณะนี้ใกล้ช่วงเลือกตั้ง ถ้าดูจากการหาเสียงของพรรคการเมือง มีการสัญญาว่าจะให้ เสี่ยงผิดกฎหมายมากมาย หรือการครอบงำพรรคการเมือง ที่ให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมาชี้นำ ก็สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย กมธ.จะไม่ละเลย และจะไปรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม การซื้อสิทธิขายเสียงไม่ใช่อย่างเดียวที่ทำลายประชาธิปไตย แต่มีอีกหลายเรื่องที่บ่อนทำลายประชาธิปไตย และเกิดจากกับดักประชาธิปไตย เพราะเมื่อได้เสียงข้างมากมาก็จะได้เป็นรัฐบาล ซึ่งได้มาไม่ถูกต้อง

“ถ้าเราปล่อยให้วัฒนธรรมเลวๆ ชั่วช้าต่ำทราม เช่น การสัญญาว่าจะให้ บ้านเมืองจะถึงการหายนะ ตอนนี้หลายหมู่บ้าน หลายตำบลรับวัฒนธรรมการซื้อเสียง ประดุจว่าเป็นเรื่องที่ชอบธรรม ทางกมธ.จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยไป จะได้นักการเมืองที่ไม่ชอบธรรม ที่ไปออกกฎหมายมาปกครองบ้านเมือง ก็จะยิ่งเลวเข้าไปอีก

เรื่องธรรมาภิบาลนักการเมืองต้องช่วยกันสรรสร้าง และดูแล อย่าคิดว่าเป็นประชาธิปไตยนาทีเดียว กาบัตรแล้วเรียบร้อย โดยไม่รู้ว่าคนที่กาไป มีความน่าเชื่อถือแค่ไหนที่จะไปเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดการทุจริตอื่นๆ ตามมา” นายจเด็จ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากรายงานฉบับนี้ไม่มี ส.ว.คนใดคัดค้าน จึงถือว่าผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน