เปิดไทม์ไลน์ ‘ ทักษิณ’ กลับบ้าน ลูก 3 คนพร้อมหน้าเตรียมต้อนรับ เผย ‘หญิงอ้อ’ไม่ไปรับ จับตา 22 ส.ค. โหวตนายกคนที่ 30 ศาลชี้ชะตา ‘เทพเทือก’ คดีโรงพักฉาว
วันที่ 21 ส.ค.2566 รายงานข่าวจากคนใกล้ชิดตระกูลชินวัตร เปิดเผยถึงการเดินทางกลับประเทศไทยของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค.2566 ว่า หลังหนีคดีทางการเมือง ถือเป็นการเดินทางกลับประเทศไทยครั้งที่ 2 หลังจากที่เดินทางออกจากประเทศไทย ไปถึง 2 ครั้ง
โดยครั้งแรก ถูกรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ขณะที่นายทักษิณ อยู่ที่นิวยอร์ก เพื่อเข้าประชุม สหประชาชาติหรือ ยูเอ็น จากนั้นได้เดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรก สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2551 และ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2551 นายทักษิณหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง หลังไม่ไปปรากฏตัวต่อศาลในคดีทุจริต รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 17 ปี
- หวั่นมวลชนทะลัก เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สั่งงดเยี่ยม 22 สค. เพื่อความปลอดภัย
- แกนนำแดงเชียงใหม่ มองทักษิณ กลับไทย ปูทาง ยิ่งลักษณ์ รับเห็นใจพท.
สำหรับขั้นตอนทางกฎหมายในวันที่ 22 ส.ค.นายทักษิณจะเดินทางกลับประเทศไทย ด้วยเครื่องบินส่วนตัว จากประเทศสิงคโปร์ โดยมีนายพานทองแท้ (โอ๊ค) ชินวัตร บุตรชายคนโต บินไปรับด้วยตัวเอง โดยเครื่องบินจะลงที่สนามบินดอนเมือง โซนวีไอพี บริเวณอาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล
จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นผู้รับตัว ทำประวัติและทำบันทึกการจับกุมต่าง ๆ ตามขั้นตอน ก่อนอนุญาตให้พบกับครอบครัว โดยมีรายงานว่า น.ส.แพรทองธาร ชินวัตรหรือ อุ๊งอิ๊ง บุตรสาวคนเล็ก และ นางสาวพินทองทา คุณากรวงศ์ ‘เอม’ บุตรสาวคนกลาง จะนำครอบครัวคอยต้อนรับ เป็นเวลาประมาณ 5- 10 นาที
โดยมีรายงานว่า คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา จะไม่ไปต้อนรับด้วย ซึ่งคาดว่าในจุดนี้บรรดาสื่อมวลชนจะได้เห็นภาพดังกล่าว ซึ่งมีรายงานว่าการท่าอากาศยานฯ ได้เตรียมพื้นที่ไว้สำหรับครอบครัว สื่อมวลชน ตัวแทนการเมือง ไว้เป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันความวุ่นวาย ส่วนมวลชนที่ให้การสนับสนุนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณพื้นที่แต่จะมีพื้นที่ให้อยู่ บริเวณด้านนอก
ทั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนต่างๆเจ้าหน้าที่จะส่งตัวอดีตนายกรัฐมนตรึให้กับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์คุมตัวขึ้นรถ และนำตัวไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
จากนั้น ศาลจะพิจารณาเมื่อศาลมีหมายจับคาดว่าจะออกหมายขังให้ทางราชทัณฑ์ เพื่อให้รู้ว่าบุคคลนั้นต้องโทษระยะเวลาเท่าใด และรอเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มารับตัวไปควบคุมที่เรือนจำหรือสถานกักขังตามคำพิพากษาของศาล
โดยมีรายงานเบื้องต้น จะเป็นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทาง เข้าสู่ระบบคัดกรองผู้ต้องขังตามระเบียบราชทัณฑ์ เริ่มจากตรวจสอบประวัติ และทำทะเบียนประวัติ โดยขั้นตอนและกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 13.00 น.ของวันที่ 22 สิงหาคม
ทั้งนี้ นายทักษิณ ถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ (74 ปี) หากมีโรคประจำตัว ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ราชทัณฑ์จะมีแพทย์ประจำเรือนจำ และมี คณะกรรมการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังต่อไป โดยในช่วง 10 วันแรก ผู้ต้องขังใหม่จะถูกนำตัวไปยังห้องกักโรคของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 ส.ค. ถือเป็นวันสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง ซึ่งนอกจากอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณจะเดินทางกลับแล้ว ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะมีการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย อีกทั้งทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์นี้ ได้เลื่อนการประชุมจากปกติ ในวันอังคาร ที่ 22 สิงหาคม เป็นวันพุธ ที่ 23 สิวหาคมแทน
โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งหนังสือแจ้งถึง ครม. ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้ประสานงานประจำกระทรวง เพื่อแจ้งเลื่อนการประชุม ครม. ครั้งถัดไป เวลา 09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล แบบครบองค์ประชุม ทั้งนี้เหตุผลของการเลื่อนประชุมครม. ก็เพื่อหลีกทางให้กับการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย
นอกจากนี้ในวันที่ 22 สิงหาคม เวลา 10.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อม.อธ.11/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง
สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ วิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ) ด้วย