รัฐนาวาเศรษฐา 1 แจกของขวัญประชาชน ลดค่าไฟลดน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ วีซ่าฟรีจีน-คาซัคสถาน ตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลงาน เพราะดึงหมอเลี้ยบเป็นเลขานุการคิดเคลื่อนไทย

แต่ดราม่าฮือฮากลายเป็น #เงินเดือนข้าราชการ จะเปลี่ยนจ่ายเดือนละ 2 รอบ คิดได้ไง พิธา ศิริกัญญา คิดนอกกรอบแบบนี้ไม่ได้นะ

ไอเดียนี้โผล่มาจากไหน ใครเสนอ ทำไมไม่ซาวเสียงล่วงหน้า จู่ๆ ก็เปรี้ยงออกมา ข้าราชการงง องค์กรครูค้าน เพราะผ่อนบ้านผ่อนรถหักหนี้สหกรณ์หรือธนาคารล้วนหักรายเดือน แล้วครึ่งเดือนที่เหลือจะให้เอาน้ำลูบท้องหรือไร

ย้อนไปที่การอภิปรายนโยบาย ก็ตลกร้าย “คนไทยไม่ยอมมีลูกเป็นความคิดบิดเบี้ยว” กลายเป็นไวรัล ถูกโต้สนั่นโลกออนไลน์ ว่ามันไม่ใช่ความผิดประชาชน สภาพแวดล้อมสังคมปัจจุบันทำให้คนไม่อยากมีลูก รัฐบาลทั่วโลกเช่นญี่ปุ่นอุดหนุนแทบทุกอย่าง สวัสดิการ เงินอุดหนุน เรียนฟรี อาหารฟรี ที่รับเลี้ยงเด็ก ฯลฯ คนก็ยังไม่อยากมีลูก แต่ไม่มีรัฐบาลที่ไหนโทษประชาชน

สงสารหมอชลน่านอยู่นะ แถลงนโยบายดีหมด ยกระดับบัตรทอง 50 เขต 50 โรงพยาบาล ฯลฯ แต่ดันพูดเกินบทโทษคนไทยไม่ยอมมีลูก

ว่าที่จริงทั้งสองเรื่องเป็นประเด็นเล็ก มองมุมหนึ่งก็เหมือนกลบประเด็นหลัก กลบนโยบาย “ไม่ตรงปก” ย้อนยุคก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 นโยบายรัฐบาลเป็นนามธรรม ใช้คำกว้าง เลื่อนลอย ไม่มีเป้าไม่ผูกมัด จนกระทั่งมีรัฐบาลไทยรักไทย “กองทุนหมู่บ้าน” “30 บาทรักษาทุกโรค” หาเสียงด้วยนโยบายแล้วทำได้จริง

แต่เศรษฐา 1 ไม่ใช่ทักษิณ 1 นโยบายที่เพื่อไทยใช้หาเสียงถูกกลืนหมด แม้บางคนโทษว่าเพราะเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ 141 เสียงต้องพึ่งพรรคร่วม แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าผสมกันแบบสมประโยชน์ทางการเมือง ไม่มีการตั้งโต๊ะถกนโยบายร่วม ว่าจะทำอะไรให้ประชาชนบ้าง อย่างที่ก้าวไกลเพื่อไทยตั้งโต๊ะถกกันจริงจัง

นโยบายหาเสียงที่ชัดเจนหนึ่งเดียวและเป็นนโยบายเรือธงคือ “เงินหมื่นดิจิทัล” ก็ตอบไม่ได้ว่าจะเอาเงิน 5.6 แสนล้านมาจากไหน จะหมุน 3 รอบ 6 รอบ ได้จริงหรือไม่ ถูกอภิปรายจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งในนอกสภา แทบทุกองค์กรสถาบัน

หนักสุดคือ ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนนี้กองเชียร์เชื่อว่าเหมาะเป็นรัฐมนตรีคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อ “นโยบายเศรษฐกิจลิงแก้แห ได้ไม่คุ้มเสีย” เดิมพันสูงเสี่ยงขาดดุลแฝด ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณ

หนึ่งในขุนพลเศรษฐกิจของพรรคที่มีเครดิตสูงออกมาค้าน แล้วจะให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไร

รัฐบาลเพื่อไทยพยายามดึงสังคมให้ Move On ก้าวพ้นโหมดตระบัดสัตย์ เป็นรัฐบาลแล้วนะ จะทำงานๆๆ อาศัยความเป็นรัฐบาลชิงกระแส เศรษฐารายวันจะทำโน่นทำนี่ ฝ่ายแค้นควร Move On เสียที อย่ามัวแต่ด่าตระบัดสัตย์ทิ้งจุดยืนอุดมการณ์ ไม่งั้นเป็นพวกขี้อิจฉา พูดซ้ำซาก ขัดขวางความเจริญ

แต่ต่อให้ Move On ก็ไม่จบเพราะการตระบัดสัตย์ข้ามขั้วทำให้ต้องผิดคำมั่นซ้ำซาก เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ตอนหาเสียงเพื่อไทยประกาศจัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดย สสร.ที่มาจากเลือกตั้งและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติ แม้แต่ตอนฉีก MOU 8 พรรค ก็กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มติ ครม.ครั้งแรก จะให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร.ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

หลังประชุม ที่ไหนได้ ให้ภูมิธรรมไปตั้งคณะกรรมการศึกษา ซื้อเวลาเห็นๆ

แม้แต่ประเด็นเศรษฐกิจปากท้อง ที่เคยหวังจะรื้อโครงสร้างพลังงาน ค่า FT ค่าไฟฟ้าสำรอง ก็เหลือแค่ลดค่าไฟลดน้ำมันเฉพาะหน้า

รัฐบาลเพื่อไทยอยากให้ Move On แต่พันธะตอบแทนทำให้ไม่สามารถ Move On หรือต่อให้ Move On ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างความคิดใหม่-เก่า

รัฐนาวารั่วตั้งแต่เริ่ม สูญเสียพลังความไว้วางใจจากประชาชน นโยบายเรือธงก็รั่วแต่ต้องฝืนทำ ข้ามสู่โหมดใหม่ก็ยังขัดแย้งใหม่

นี่คือสิ่งที่ประยุทธ์เจอมาแล้ว แม้คงมีฝีมือกว่าประยุทธ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน