เด็จพี่ แนะ ‘หมออ๋อง’ เสียสละลาออกรองประธานสภาฯ รักษาพรรคก้าวไกลไว้ดีกว่า หลังมีคนร้องป.ป.ช.สอบ ชี้เข้าข่ายขัดจริยธรรมชัดเจน
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2566 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ประสงค์จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปโดยยอมให้พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ขับออกจากสมาชิกพรรค เพื่อไปสังกัดพรรคอื่นว่า เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากขณะนั้นพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
ดังนั้น เจตจำนงของ สส.ที่เลือกให้นายปดิพัทธ์ ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ ก็เพื่อเป็นรองประธานสภาฯ ในฝั่งรัฐบาล แต่เมื่อพรรคก้าวไกลเปลี่ยนสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านและเป็นพรรคที่มีจำนวน สส.มากที่สุด เมื่อหัวหน้าพรรคต้องการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็ต้องให้นายปดิพัทธ์ ลาออกจากรองประธานสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 วรรคหนึ่ง อันเป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า การที่นายปดิพัทธ์ จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปโดยสังกัดพรรคฝ่ายค้านอื่น เห็นว่าเป็นการหลีกเลี่ยงและสมยอมกันของพรรคก้าวไกลและนายปดิพัทธ์ เพื่อให้คนของตนได้ทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านและรองประธานสภาฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ผิดไปจากเจตจำนงของ สส.ที่เลือกนายปดิพัทธ์ และขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
เมื่อดูจากการมีมติให้นายปดิพัทธ์ พ้นสมาชิกพรรค มิได้เกิดจากการทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง อันจะเป็นเหตุให้พรรคต้องมีมติขับนายปดิพัทธ์ ออกจากสมาชิก ดูจากแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลยิ่งเห็นถึงกระบวนการว่าเป็นไปโดยไม่ชอบ
เนื่องจากในการประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคและ สส.พรรคก้าวไกล ไม่ได้กล่าวโทษ สอบสวน แสวงหาข้อเท็จจริงใดๆ ของคณะกรรมการจริยธรรมของพรรคเลย เพียงแต่เชิญนายปดิพัทธ์ มาพูดคุยภายหลัง เมื่อนายปดิพัทธ์แสดงเจตนาว่าจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ที่ประชุมร่วมก็มีมติให้นายปดิพัทธ์พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคทันที
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า ตนจึงเห็นว่าเจตนาของนายปดิพัทธ์ กก.บห. และ สส.พรรคก้าวไกล น่าจะมีปัญหาเรื่องความสุจริตและฝ่าฝืนจริยธรรมได้ ส่วนการกระทำของพรรคก้าวไกลอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง อันเป็นการกระทำเพื่อได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
จากประสบการณ์ที่ตนเคยถูกกระทำมาก่อน จึงเตือนด้วยเจตนาที่ดีต่อพรรคก้าวไกล เพราะเห็นว่าเคยอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันมา รัฐธรรมนูญ 60 เขียนกับดักเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมไว้ หากนายปดิพัทธ์ ยังจะดึงดันกอดตำแหน่งรองประธานสภาฯ ไว้ กลัวจะเป็นทุกขลาภเรื่องความเหมาะสม คนก็จะติติง ระวังจะพากก.บห.และ สส.พรรคก้าวไกลตายหมู่ เพราะเท่าที่ทราบ มีผู้ไปร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว
“ผมแนะนำให้นายปดิพัทธ์ ลาออกจากรองประธานสภาฯ เสียสละคนเดียว แต่ความเป็น สส.ก็ยังอยู่ เพื่อรักษา สส.เพื่อนสมาชิก รักษาพรรคไว้จะไม่ดีกว่าหรือ ในอดีตกรณีที่ประชุมกก.บห.พรรคพลังประชารัฐ มีมติขับร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และสส.ในกลุ่มออกจากพรรคอาจเคยมีมาแล้ว แต่โดนขับออกจากพรรคแล้วยังเป็นรองประธานสภาฯ ไม่เคยมี ผมกลัวว่ามันจะเข้าเรื่องจริยธรรม เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อยากให้นายปดิพัทธ์ คิดดูว่าสิ่งที่ทำอยู่ มันคุ้มค่าหรือไม่ จะได้คุ้มเสียหรือเปล่า” นายพร้อมพงศ์ กล่าว