เวทีประชุม BRF เริ่มแล้ว เศรษฐา-ผู้นำประเทศต่างๆ ร่วมประชุมพร้อมเพรียง ปธน.สี จิ้น ผิง กล่าวเปิดประชุม นายกฯไทยเสนอ 4 แนวทางสู่พัฒนายั่งยืน เปลี่ยนผ่านสีเขียว อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการเงินสีเขียว และความร่วมมือพหุภาคี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ต.ค.2566 ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนรัฐ (เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BELT AND ROAD FORUM FOR INTERNATIONAL COOPERATION: BRF) ครั้งที่ 3 ณ ห้อง Grand Banquet Hall มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง

ก่อนเข้าร่วมพิธี นายกรัฐมนตรีได้ร่วมถ่ายภาพหมู่กับนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้นำประเทศต่างๆ ทั้งนี้ ในเวทีการประชุมดังกล่าว นายเศรษฐา และผู้นำแต่ละประเทศ จะร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในฐานะผู้แทนแห่งภูมิภาค

ต่อมาเวลา 16.15 น. ที่ศูนย์การประชุม China National Convention Center (CNCC) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม High-Level Forum ภายใต้หัวข้อ “Green Silk Road for Harmony with Nature”

นายเศรษฐา กล่าวชื่นชมความสำเร็จในโอกาสครบรอบ 10 ปี ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) พร้อมเน้นย้ำแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อมโยง เป็นกลไกสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การประชุม BRF ในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

เชื่อมั่นว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อน BRI ไปสู่ “ความร่วมมือสายแถบและเส้นทางคุณภาพสูง” (High-Quality Belt and Road Cooperation) เพื่อการพัฒนาและความรุ่งเรือง โดยไทยมุ่งมั่นนำบทเรียนจากโครงการนี้ไปเป็นแนวปฏิบัติภายในประเทศ

นายกฯ กล่าวเสนอแนวทางดำเนินงานเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เส้นทางสายไหมสีเขียวเพื่อความกลมกลืนกับธรรมชาติ” 4 ประการ โดย 1.การเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) ในทุกภาคส่วน เพื่อจำกัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ

โดยไทยได้ปรับแผนพลังงานแห่งชาติ เปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตั้งเป้าหมายเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ.2030 รวมทั้งใช้แนวคิดเรื่องพืชไร่ที่ยั่งยืน ลดความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065

2.การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ครอบคลุมร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมด และเป้าหมาย 30 x 30 เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ.2030 ตามที่ไทยให้คำมั่นไว้ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (COP CBD) เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เชื่อมั่นว่าการปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ยั่งยืน จะมีส่วนสำคัญในการบรรลุเส้นทางสายไหมทางทะเลสีเขียว

3.การส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance Mechanism) เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ขณะนี้ไทยสามารถระดมเงินได้ถึง 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เป็นทุนสนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืน

ในเร็ว ๆ นี้ ไทยจะวางแผนออกพันธบัตรที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน (Sustainability Linked Bonds) อีกชุด กระตุ้นการเติบโตของตลาดพันธบัตรสีเขียว สนับสนุนให้ภาคเอกชนและ MSMEs ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4.การส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี สร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน ร่วมมือ แบ่งปันความรู้ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อสวัสดิการของประชาชน

นายกฯ เน้นย้ำการทำงานร่วมกันภายใต้ BRI และสร้างความร่วมมือ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน

ทั้งนี้ การประชุม High-Level Forum แบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ Green, Connectivity และ Digital ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกัน โดยนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ Green ซึ่งมี นายหาน เจิ้ง รองประธานาธิบดีจีน เป็นประธานการประชุม และมีผู้นำจากหลายประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน