กมธ.ที่ดิน แจงหลักเกณฑ์เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็น โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมนำร่องจังหวัดต้นแบบ 15 ม.ค.67 เป็นของขวัญปีใหม่เกษตรกร
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ต.ค.2566 ที่รัฐสภา นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรรคก้าวไกล นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย และนายปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
นายฐิติกันต์ กล่าวว่า กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูล โดยมีประเด็นสำคัญ คือ หลักการในการดำเนินนโยบาย ได้แก่
1.เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้เสร็จภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2566
2.จัดทำร่างระเบียบเพื่อกำหนดรูปแบบและนิยามโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการ เปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
3.กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดที่ดินซึ่งเป็นเกษตรกรที่ถือครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
4.กำหนดวิธีการจัดที่ดินโดยจะเป็นการจัดที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามการจำแนกพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดิน
5.กำหนดหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงผู้ทำประโยขน์ โดยให้สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด
6.จำนวนเนื้อที่การถือครองยังคงเป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด
7.กำหนดให้เกษตรกรที่ได้รับโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนและชนิดของไม้มีค่าที่ ส.ป.ก. กำหนด
8.แนวทางการควบคุม กำกับ ดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยกำหนดให้เลขาธิการ ส.ป.ก. หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ ส.ป.ก. มอบหมาย เป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่เกษตรกรโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งกำหนดค่าดำเนินการที่เกี่ยวข้องในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
9.ส.ป.ก.จะกำหนดหรือคำนวณมูลค่าที่ดินและทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพย์สินเพื่อเกษตรกรเพื่อสร้างมูลค่าให้กับที่ดินรัฐ โดยแก้ไขบันทึกข้อตกลงกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อเพิ่มวงเงินค้ำประกันเงินกู้และอำนาจในการจัดทำข้อตกลงกับสถาบันการเงินอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้เอกสารสิทธิหรือสร้างมูลค่าเพิ่ม
10.การออกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรก จะแจกให้เป็นจังหวัดต้นแบบได้ภายในวันที่ 15 ม.ค.2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกร
11.ส.ป.ก.จะออกเอกสารสิทธิในรูปแบบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในทุกจังหวัดภายใน 1 ปี และจะปรับปรุงเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบภายใน 5 ปี
นายฐิติกันต์ กล่าวว่า กมธ.มีข้อสังเกตว่า โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ ที่ดินที่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ต่างกับโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน แต่พยายามทำให้มีการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ์เหมือนกับโฉนด มีการจำกัดว่าคนที่จะมาถือสิทธิ์ต้องครอบครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพิ่มจากเดิมที่ให้เพียงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ ไม่สามารถซื้อ ขายเปลี่ยนมือ โอนไปยังบุคคลอื่นได้ รวมถึงกมธ.ยังกังวลเรื่อง ข้อพิพาทจากการประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ไม่ชัดเจนและทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินประเภทอื่น
เมื่อถามว่าหากเปลี่ยนพื้นที่ส.ป.ก. เป็นโฉนด จะมีการรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า เป้าหมายหลัก คือการทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ในพื้นที่ส.ป.ก. ที่มีอยู่แล้ว ส่วนปัญหาการบุกรุกป่า ทางกมธ.จะพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง