เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 9 พ.ย. ว่า รัฐบาลต้องทำตามกำหนดเวลาไม่ได้มีปัญหาอะไร โรดแมปเลือกตั้งยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิม ส่วนความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ถึงเรื่องการยุบพรรค มี 3 กรณี คือ 1.เป็นปฏิปักษ์ ใช้อำนาจ หรือรับเงิน ล้มล้างการปกครอง 2.รับเงินจากต่างด้าว 3.รับเงินเพื่อซื้อขายตำแหน่ง โดยกรธ.จะมีการกำหนดเพดานรับบริจาคเอาไว้ และการวินิจฉัยให้เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดพิจารณาส่งฟ้องศาลภายใน 30 วัน

หากเลยกำหนดผู้ร้องสามารถยื่นร้องตรงต่อศาลได้ ทั้งนี้ ยังให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจพิจารณาเบื้องต้นว่า พรรคการเมืองเข้าข่ายกระทำความผิดฐานยุบพรรคการเมืองหรือไม่ โดยไม่กำหนดกรอบเวลาพิจารณาให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจกกต.ในการสอบสวนทวนความ หากสรุปแล้วว่าผิดมีหลักฐานเพียงพอก็ให้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ส่วนพรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหา ก็ไปชี้แจงในชั้นศาล

นายมีชัย กล่าวต่อว่า สำหรับโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากการยุบพรรค จะมีโทษเฉพาะผู้กระทำผิดเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการบริหารพรรค เทียบเท่ากับคดีทุจริตอื่นๆ โทษสูงสุดคือตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต

ขณะเดียวกันก็จะมีโทษทางอาญาที่รุนแรงสุดคือการประหารชีวิต หรืออาจรองลงมาคือจำคุกตลอดชีวิต ในฐานความผิดล้มล้างการปกครอง การซื้อขายตำแหน่ง เพราะถือเป็นการทำลายระบบ นอกจากนี้ จะมีการบัญญัติเรื่องการขจัดการซื้อขายตำแหน่งรองรับไว้ในพ.ร.บ.ว่าด้วย คณะกรรมการป้องกันแบะปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย เพราะมองว่าเป็นเรื่องรุนแรงยิ่งกว่าโรคระบาด ทั้งนี้ กรธ. จะรับฟังความเห็นจากประชาชนและพรรคการเมืองอีกครั้งว่า การกำหนดโทษเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญ ทุกคนก็อยากให้กำหนดโทษรุนแรง ซึ่งโทษประหารชีวิตและตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตก็ถือว่ารุนแรงที่สุดสำหรับการทุจริตแล้ว เหมือนในจีนที่การทุจริตธรรมดา ก็มีโทษประหารชีวิต

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน