นายกฯ รุดรับหนังสือค้านแลนด์บริดจ์ ขอชาวบ้านไม่ต้องห่วง ยก ‘หนองงูเห่า’เมกะโปรเจกต์ใหญ่ช่วยประเทศได้ประโยชน์ ย้ำเป็นโอกาสครั้งสำคัญไม่ใช่แค่ระนอง แต่ได้ประโยชน์ทั้งภาคใต้

วันที่ 22 ม.ค.2567 ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังดูสถานที่จริงที่จะก่อสร้างโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ว่า วันนี้เป็นครั้งแรกที่ลงพื้นที่บริเวณดังกล่าวและได้ฟังการนำเสนอ ว่าจะถมทะเลออกไปเท่าไหร่ มีช่องน้ำอย่างไรบ้าง ซึ่งที่นำเสนอมาจะต้องสร้างตอม่อเป็นบริดจ์ออกไป ทำให้ประชาชนประกอบอาชีพเรือประมงได้ ก็เห็นถึงศักยภาพที่คณะกรรมการแลนด์บริดจ์ได้นำเสนอขึ้นมา

เมื่อถามว่าในพื้นที่ยังมีการคัดค้านจะทำความเข้าใจอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า การที่เราจะทำโครงการใหญ่ๆ เป็นธรรมดาที่มีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นประชาชน ทั้งในและนอกพื้นที่ ก็เข้าใจว่าจะมีคนมายื่นหนังสือ ซึ่งตนก็รับฟังว่าความห่วงใยของเขาคืออะไร

เมื่อถามย้ำว่ารัฐบาลยังขาดการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้เพิ่งเริ่ม อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต เดี๋ยวเราคอยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนแล้วกัน

ถ้ายังจำกันได้เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เรามีโครงการเมกะโปรเจกต์ใหญ่ระดับชาติที่หนองงูเห่า ซึ่งถกเถียงกันนานมากว่าจะสร้างสนามบินแห่งที่ 2 จากสนามบินดอนเมือง ซึ่งรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ก็เดินหน้าลุยเต็มตัวทำสนามบินสุวรรณภูมิขึ้นมาได้

20-30 ปีที่ผ่านมา เราไม่มีเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่เลยในประเทศ ก็ไปดูว่าประโยชน์ที่เราได้รับจากสนามบินสุวรรณภูมิ 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ประโยชน์มีมหาศาล ทำให้เราเป็นจุดศูนย์กลางท่องเที่ยวแห่งสำคัญ บางที่ยังบอกว่าเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ถ้าเราไม่มีโครงการเหล่านี้เราก็คงไม่มาถึงจุดนี้ ดังนั้น เมื่อมีเมกะโปรเจกต์ ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน ถือเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อถามว่าอยากให้นายกฯ ย้ำถึงประโยชน์ และสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่ นายเศรษฐา กล่าวว่า แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่จะเชื่อมต่อระหว่างอันดามันกับอ่าวไทยเข้าด้วยกัน เป็นการย่นระยะทาง การขนถ่ายสินค้าที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ปัจจุบันเริ่มหนาแน่น และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

ฉะนั้น การขนถ่ายสินค้าจากส่วนหนึ่งของโลก ไปอีกส่วนหนึ่งของโลก ก็มีความอึดอัดพอสมควร การที่เราจะสร้างเมกกะโปรเจ็กต์ที่เชื่อมทะเลอ่าวไทย ไปทะเลอันดามันและส่งต่อไปทั่วโลก เป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งยังนำความเจริญก้าวหน้าเข้ามาสู่ประเทศทั้งการขนถ่ายสินค้า การเป็นแรงจูงใจให้บริษัทข้ามชาติ หลายบริษัทมาสร้างแหล่งผลิตส่งออก ไม่ว่ารถยนต์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ หากไปดูในรายละเอียดการขนส่งสินค้าน้ำมันไปทั่วโลก 60% ผ่านทางช่องแคบมะละกา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เราจะต้องผลักดันให้ประเทศมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในพื้นที่อยากให้ศึกษาให้รอบด้านก่อน นายกฯกล่าวว่า ต้องศึกษาก่อน จริงๆแล้วขั้นตอนต่อไปจะไปดูแหล่งน้ำพุร้อน เรื่องการท่องเที่ยว ดังนั้น เรื่องการท่องเที่ยวให้ความสำคัญอย่างยิ่ง การที่เราจะสนับสนุนตรงนี้ ต้องควบคู่เรื่องของความเจริญในหลายๆมิติ

เมื่อถามว่าขั้นตอนการชี้แจงกับประชาชนต้องศึกษาก่อนอนุมัติ การผลักดันโครงการในตอนนี้เหมือนผลักดันไปก่อนที่จะมีการศึกษา นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องควบคู่กันไป ยังไงก็ต้องฟังความคิดเห็นของประชาชน

เมื่อถามว่ามีระยะเวลาหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวก็ต้องไปดูจะช้าหรือเร็ว ก็ต้องขึ้นอยู่กับเสียงเรียกร้องด้วยว่าจะต้องทำมากน้อยขนาดไหน แต่ขอยืนยันต้องพยายามอย่างเต็มที่ให้เป็นที่เข้าใจของทุกฝ่าย

เมื่อถามว่าชาวบ้านกังวลในเรื่องการจ้างงานที่จะเกิดอุตสาหกรรมรอบด้านทางท่าเรือ จะต้องทำความเข้าใจและชี้ชัดเรื่องอาชีพด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่น่าจะกังวล น่าจะเป็นเรื่องของโอกาสมากกว่า วันนี้ให้มองว่าเป็นโอกาส ท่าเรือที่สร้างเข้ามาก็ไม่ใช่แค่ขนถ่ายสินค้าอย่างเดียว เรือสำราญต่างๆก็มาเทียบจอดได้

ตนเชื่อว่านี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่ชาวระนอง ทางจังหวัดแถวอันดามันก็ได้ประโยชน์ควบคู่กับการพัฒนาภาคใต้ทั้งเขตภูมิภาค ไม่ว่าสนามบินอันดามัน เส้นสนามบินอันดามันที่อยู่ทางตอนเหนือของภูเก็ต ซึ่งจะเป็นสนามบินขนาดใหญ่ เหล่านี้เป็นการพัฒนาควบคู่กันไป ซึ่งรัฐบาลเราเชื่อว่าจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้

เมื่อถามว่าต้องดูเรื่องความมั่นคงด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยืนยันว่าเวลาเราทำโครงการเมกกะโปรเจคทั้งหมดเราดูแลให้ครบทุกมิติ

ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งให้ผู้ว่าฯระนอง ดูแลประชาชนและรับฟังความคิดเห็นว่าเขามีความคิดเห็นต่อโครงการแลนด์บริดจ์อย่างไร ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมยินดีรับฟัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายกฯ จะมาถึงปรากฏว่าได้มีกลุ่มคัดค้านติดป้ายผ้าขนาดใหญ่ เขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า No landbridge แลนด์บริดจ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กันไม่ให้เข้ามาในพื้นที่เพียงให้อยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอุทยานฯเท่านั้น เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า

จากนั้นนายกฯ ได้ออกมารับหนังสือร้องเรียนจาก น.ส.ทม สินสุวรรณ ตัวแทนกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นตำบลราชกรูด ที่อาศัยอยู่บริเวณที่จะก่อสร้างแลนด์บริดจ์ อยากให้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ โดยขอให้ชะลอไปก่อนได้ และพื้นที่ที่จะทำแลนด์บริดจ์ มีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่ ตรงนี้ยังไม่มีบัตรประชาชน อยากให้เร่งสำรวจพี่น้องที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ อยากจะให้ช่วยค่าใช้จ่ายตรวจ DNA พิสูจน์สัญชาติด้วย

นายกฯ กล่าวว่า ไม่ต้องห่วงความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ แลนด์บริดจ์ถือเป็นโอกาส แต่การมีโอกาสก็ต้องให้โอกาสกับคนพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นเช่นกัน หน้าที่ของรัฐบาลก็ต้องมารับฟังความเห็นของประชาชน

ตัวแทนของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ได้ย้ำกับนายกฯ อยากให้กำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ก่อนจะรายงานอะไร ขอให้แสดงความจริงใจด้วย เพราะมันมีการรายงานว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ทั้งหมด เพราะมันมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ

นายกฯ จึงตอบกลับว่า การรับฟังต้องมีทั้ง 2 ทาง และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ก็ลงพื้นที่บ่อย ขอให้ทุกคน ไม่ต้องเป็นห่วงเรามีความจริงใจอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน