รมต.ธรรมนัส เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปอยข้าวสาลีล้านนา ครั้งที่ 4” เผยเกษตรกรจะมีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ต้องเพิ่มรายได้ให้เป็น 3 เท่า ภายใต้ระยะเวลา 4 ปี

วันที่ 24 ก.พ.67 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปอยข้าวสาลีล้านนา” ครั้งที่ 4 ซึ่ง กรมการข้าว ได้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23 – 24 ก.พ.2567 ที่ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์เทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากธัญพืชเมืองหนาว รวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรนักวิชาการและผู้ประกอบการ โดยมีนายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนราชการและผู้ประกอบการ ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวอำเภอสะเมิง เข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก

นอกจากนั้น คณะผู้บริหารกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังเข้าร่วมงานอีกด้วย อาทิ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว นายอานนท์ นนทรี รองอธิบดีกรมการข้าว ฯลฯ

ทันทีที่ ร.อ.ธรรมนัส เดินทางมาถึงเกษตรกรได้มอบดอกไม้และผ้าขาวม้า เพื่อเป็นการต้อนรับและให้กำลังใจรมว.เกษตรและสหกรณ์ จากนั้นเยี่ยมชมห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ชมแปลงพันธุกรรม ธัญพืชเมืองหนาวและนิทรรศการธัญพืชเมืองหนาว ร่วมชิม ซื้อของ กาดหมั้ว ตลาดนัดสีเขียว ชมนิทรรศการและการสาธิตแปรรูปผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเมืองหนาว

สำหรับข้าวสาลี ถือเป็นธัญพืชเมืองหนาว ที่ได้มีการนำเข้ามาทดลองปลูก ศึกษาวิจัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ตั้งแต่ปี 2510 โดยกรมการข้าวและภาคีเครือข่าย รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนา ทำให้ได้พันธุ์รับรองข้าวสาลี จำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวสาลีพันธุ์สะเมิง 1, พันธุ์สะเมิง 2, พันธุ์ฝาง 60 และพันธุ์แพร่ 60 ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการคั้นน้ำต้นอ่อนข้าวสาลี รำข้าวสาลี ช่อข้าวสาลีแห้ง ผลิตภัณฑ์แป้งโม่สำหรับทำขนมปังได้

ร.อ.ธรรมนัส เปิดเผยว่า ข้าวสาลีสามารถนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างมาก และยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งหากจะทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน จะต้องเพิ่มรายได้ให้เป็น 3 เท่า ภายใต้ระยะเวลา 4 ปี ด้วยกลยุทธ์ตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ โดยส่งเสริมการปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง

“ประเทศไทยนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากข้าวสาลีเป็นธัญพืชเมืองหนาว ที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งวิถีชีวิตประจำวันมีลักษณะเร่งรีบ อุปนิสัยการบริโภคต้องการความรวดเร็วใช้เวลาน้อยในการปรุงอาหาร ประกอบกับข้าวสาลีมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีปริมาณโปรตีนสูง และมีคาร์โบไฮเดรตในกลุ่มซึ่งใช้เป็นอาหารเสริม ซึ่งมีเส้นใยจำนวนมากมีประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหาร ปัจจุบันความต้องการข้าวสาลีที่ปลูกในประเทศไทยปริมาณสูงมาก โดยผู้ประกอบการต้องการนำไปใช้สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งผลผลิตที่ได้ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และยังมีโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีในการพัฒนาการผลิตข้าวสาลีในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาการผลิต ควบคู่กับการพัฒนาชุมชนภาคเหนือตอนบน” ร.อ.ธรรมนัส ระบุ

ด้าน นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว​ กล่าวว่า​ การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปอยข้าวสาลีล้านนา ครั้งที่ 4” ครั้งนี้​ จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์และสายพันธุ์ดีเด่นของธัญพืชเมืองหนาว รวมไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากธัญพืชเมืองหนาว และสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ประกอบการ​ โดยภายในงาน​จะมีกิจกรรมต่างๆมากมาย​ อาทิ​ 📌กิจกรรมแชะ แชร์ เช็คอิน ณ ทุ่งข้าวสาลี บาร์เลย์ โอ๊ต
📌กิจกรรม​ ชิม ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชิมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธัญพืชเมืองหนาว
📌กิจกรรม​ ชม ที่จะมีการประกวดและสาธิตแปรรูปผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเมืองหนาว
📌กิจกรรม​ ช้อป ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี บาร์เรย์ โอ๊ต และตลาดนัดสีเขียว
นอกจากนั้นยังจัดให้มีการแสดงดนตรีโฟล์คซองจากศิลปินล้านนา​อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน