เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ตามที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาทบทวนแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว

โดยนายวิทยา ผิวผ่อง ประธานกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย รายงานเนื้อหาที่ได้ทบทวนให้ที่ประชุมสนช.รับทราบ มีสาระสำคัญอาทิ การแก้ไขมาตรา 35 เรื่องการตัดสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและรองผู้บริหารท้องถิ่น แก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มาตรา 73 การห้ามจัดแสดงมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ได้รับการทักท้วงมากจาก กมธ.ร่วมเสียงข้างน้อยและสมาชิกสนช.คือ การจำกัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายแก้ไข กรณีข้าราชการการเมือง และรองผู้บริหารท้องถิ่น หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทันที จากเดิมตัดสิทธิแค่เฉพาะการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและรองผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กมธ.เสียงข้างน้อย ระบุว่า มติกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายที่ตัดสิทธิการห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ไม่ใช่แค่จำกัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ยังไปจำกัดอำนาจของผู้มีสิทธิแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองด้วย ถือว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสนช.อภิปรายว่า การที่กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายไปตัดสิทธิข้าราชการการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะเกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะมาตรา 35 (2) ระบุว่ากรณีส.ส. และส.ว.ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิเพียงแค่การรับสมัครเลือกตั้งเป็นส.ส.เท่านั้น แต่ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง อาจถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติได้

ด้านนายตวง อันทะไชย สมาชิกสนช. อภิปรายว่า สิ่งที่กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายไปแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เขียนแบบนี้เหมือนได้คืบเอาศอก ทำเหมือนคนพวกนี้เป็นอาชญากร

นายสมชาย แสวงการ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า เหตุที่ต้องตัดสิทธิดังกล่าว เพราะอยากให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน ยืนยันว่า ไม่เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ หลังจากสมาชิกสนช.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมสนช.ลงมติให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ด้วยคะแนน 211 ต่อ 0 งดออกเสียง 7

ต่อมาเวลา 12.30 น. ที่ประชุมสนช. พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ตามที่กมธ.ร่วมพิจารณาเสร็จแล้วทั้ง 4 ประเด็นคือ 1.การลดจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม โดยปรับแก้เป็นบทหลักมี 20 กลุ่ม ส่วนบทเฉพาะกาล ให้มี 10 กลุ่ม 2.การแบ่งผู้สมัครแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท คือ อิสระและการเสนอชื่อโดยองค์กร แก้เป็นบทหลัก รับสมัครแบบอิสระอย่างเดียว ส่วนบทเฉพาะกาล ให้รับสมัคร 2 ประเภท คือ อิสระและการเสนอชื่อโดยองค์กร

3.วิธีการเลือกตรงและการเลือกไขว้ ปรับแก้เป็น ในบทหลักให้ใช้การเลือกตั้งและการเลือกไขว้ ส่วนบทเฉพาะกาล ให้ใช้การเลือกตรงเพียงอย่างเดียว และ 4.ปรับแก้ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกมธ.ร่วม ชี้แจงว่า การกำหนดให้ทบหลัก ต่างจากบทเฉพาะกาลไม่ได้มีปัญหา ในรัฐธรรมนูญก็มีอยู่หลายเรื่อง เช่นในส่วนของส.ว. ไม่ว่าจำนวน อำนาจหน้าที่ และวิธีการเลือก ที่หลายฝ่ายติดใจการแบ่งวิธีสมัครส.ว.เป็น 2 วิธีนั้นจึงไม่เป็นปัญหา เชื่อว่าการเลือกส.ว. 2 แบบนี้ จะทำให้ได้ ส.ว.ที่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

หลังใช้เวลาอภิปรายกว่า 1 ชั่วโมง ที่ประชุมสนช.มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 202 ต่อ 1 งดออกเสียง 13 ทั้งนี้ ประธานสนช.จะส่งร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ให้นายกฯขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายตต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน