ศิริกัญญา ตัด 3 หมื่นล้านในงบรวม ชี้รัฐบาลขาดประสิทธิภาพเร่งรัดเบิกจ่ายงบ แม้ใช้งบไปพลางก่อน ‘จุลพันธ์’ยันเดินหน้า ดิจิทัลวอลเล็ต โดยกู้ผ่าน พ.ร.บ.

วันที่ 20 มี.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 เรียงตามมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 พิจารณาเสร็จแล้ว

เวลา 09.45 น. พิจารณาเรียงมาตรา โดยในมาตรา 4 งบรวม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.ของสงวนความเห็น อภิปรายว่า ตนขอปรับลด 3 หมื่นล้านบาท เพราะงบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากงบปี 67 มีการอนุมัติงบไปพลางก่อนไปแล้วโดยผอ.สำนักงบประมาณ มูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท

ส่วนที่เหลือที่สภาฯสามารถพิจารณาได้จริงๆ โดยไม่ต้องไปโอนเปลี่ยนแปลงคืน ไม่ต้องถูกสำนักงบฯทักท้วงในห้องประชุม มีมูลค่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งคือ 1.68 ล้านล้านบาท ดังนั้น ถ้ามีใครบอกว่างบประมาณไม่ออก 2 ไตรมาสแรก ไม่ได้เป็นปัญหาจากที่สภาฯ เนื่องจากสำนักงบฯได้อนุมติงบไปพลางก่อนแล้ว แต่ที่เบิกจ่ายล่าช้าเป็นเพราะรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะงบใช้ไปพลาง

สำหรับงบประจำเบิกจ่ายไปแล้ว ณ วันที่ 15 มี.ค.เบิกได้แค่ 79 เปอร์เซนต์ แต่ที่กังวลคือรายจ่ายลงทุน มีการอนุมัติไปแค่ 155,000 ล้านบาท ปกติเราอนุมัติรายจ่ายลงทุนทั้งปี ประมาณ 6 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่าเบิกจ่ายไปได้เพียง 55 เปอร์เซนต์ ใน 6 เดือน ดังนั้นตนคิดว่าถ้ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบฯขนาดนี้ ก็สมควรถูกตัดงบลง

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ประมาณการรายได้อาจผิดพลาด รัฐบาลได้ออกนโยบายที่จะกระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลหลายส่วน เช่น จะไม่เก็บภาษีการขายหุ้น ทำนโยบายลดหย่อนกองทุน ESG ลดการนำส่งรายได้ของ กฟผ. ตอนนี้ลดไปแล้ว 8 พันล้านบาท แต่ไม่รู้ว่านำส่งจริงจำนวนเท่าไหร่

ลดภาษีสรรพสามิตสำหรับลดค่าใช้จ่ายราคาน้ำมันให้กับประชาชน ทั้ง12 เดือน น่าจะใช้ไป 6 หมื่นล้านบาท 4 เดือนแรก ก็ต่ำกว่าประมาณการ 2 หมื่นกว่าล้านบาท และยังมีรายได้ที่อาจจะจัดเก็บน้อยลงเนื่องจากเศรษฐกิจโตช้ากว่าตอนทำงบกระมาณ ดังนั้น คำนวณแล้ว มีความเสี่ยงที่จะประมาณการรายได้ประมาณ 110,000 ล้านบาท และจัดเก็บงบประมาณได้จริงไม่ถึง 2.787 ล้านล้านบาท ตามที่ประมาณการไว้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ตามมาคือ หากรายได้พลาดเป้า รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท เสี่ยงต่อการชนเพดานเงินกู้ซึ่งอยู่ที่ 790,656 ล้านบาท อีกเพียง 97,656 ล้านบาท จะชนเพดาน หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจะทำอย่างไร แน่นอนว่าใครของบก่อนได้ก่อน จึงเห็นว่าควรต้องมาจัดสรรลำดับความสำคัญกันใหม่ ด้วยการปรับลดงบประมาณลงเล็กน้อย เพื่อให้สถานะทางการคลังของประเทศไม่สะดุดหยุดลงหรือมีปัญหา

ในกมธ. นายกรัฐมนตรี ได้เสนอตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นสำหรับปี 68 ได้แก่ งบประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรมและดูงาน ค่าใช้จ่ายเดินทางต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ ลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ แต่ตอนนี้งบประมาณปี 68 หน่วยรับงบประมาณได้ส่งคำขอไปตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 67 ตนยังงงอยู่ว่าทำไมนายกฯ เพิ่งทราบจากกมธ.ว่าเราจำเป็นต้องลดงบที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ แล้วมาสั่งวันที่ 3 มี.ค.67 ออกหนังสือวันที่ 6 มี.ค.67

น่าเสียดายที่เราไม่มีนโยบายแบบนี้ตั้งแต่การมอบนโยบายงบ 68 ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.67 แต่เราจะติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับงบปี 68 ซึ่งจะเผยโฉมหน้าให้ประชาชนทราบ ที่จะเข้าครม.ในสัปดาห์หน้า

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะรองประธานกมธ. ชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงงบประมาณไปพลางก่อน ไม่ใช่อำนาจของสำนักงบฯฝ่ายเดียว แต่มีเรื่องกลไกลตามข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง มีการอนุมติเห็นชอบผ่านนายกฯ รวมกับสำนักงบฯ และเนื่องจากเวลาในการทำงบฯประจำปีไม่ทันจึงจำเป็นต้องใช้ แต่ในการใช้งบไปพลางก่อนจะตั้งโครงการใหม่ไม่ได้

นายจุลพันธ์ กล่วว่า รัฐบาลนี้เข้ามาเราได้อนุมัติแผนการคลังปี 68-71 โดยให้ความสำคัญของการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณลง เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 68 จำนวน 7.13 แสนล้านบาท ลดลงปีละ 1 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 0.2 เปอร์เซนต์ของจีดีพี

หากระยะต่อไป เราสามารถเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขยายตัวได้เต็มศักยภาพ อย่างที่วางเป้าไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ภาครัฐก็สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของการคลังได้ทั้งด้านรายได้และหนี้สาธารณะ ก็สามารถบริหารได้เหมาะสมเพื่อที่จะเดินไปสู่เป้าหมายการคลังในระยะยาวได้ และสามารถเดินหน้าทำงบประมาณสมดุลได้ในเวลาที่เหมาะสม

“ยืนยันว่าโครงการของรัฐบาลทุกโครงการไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัลวอลเล็ต หรือโครงการใดก็ตาม ยังจะเดินหน้า แต่ด้วยกรอบการพิจารณาของชั้นคณะกรรมการผู้ดำเนินการนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต เรายังยืนยันว่าอาจจำเป็นจะต้องกู้ผ่านพ.ร.บ. แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร คงจะมาผ่านการพิจารณาการให้ความเห็นของจากสมาชิกอีกครั้ง ยืนยันว่าเราจะเดินหน้าแน่นอน” นายจุลพันธ์ กล่าว

จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบไม่มีการแก้ไขตามเสียงข้างมากของกมธ.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน