อดีตปธน.มองโกเลีย ICDP เดินสายรณรงค์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก ไทยขานรับพร้อมก้าวสู่สังคมนิติธรรม

วันที่ 27 มี.ค.67 ที่โรงแรมโรสวูด ถนนเพลินจิต กทม. นายเอลเบกดอร์จ ซาเกีย คณะกรรมการ International Commission Against Death Penalty (ICDP) (อดีตประธานาธิบดีมองโกเลีย) ให้สัมภาษณ์ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อนำเสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย

นายเอลเบกดอร์จ กล่าวว่า ตนเองเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ICDP ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศมองโกเลียยกเลิกโทษประหารชีวิตในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยใช้ระยะเวลา 8 ปี ในโอกาสเยือนครั้งนี้ เห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศอาเซียนที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้มีการตัดสินประหารชีวิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเล็งเห็นความเป็นไปได้ที่จะให้ประเทศไทยพิจารณาเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ซึ่งได้เข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอแนวคิดที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยธรรมสากลแล้ว

นายเอลเบกดอร์จ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ได้ยกเลิกกฎหมายโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนลาวและบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ โดยระงับการประหารชีวิตในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนประเทศไทย เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงเป็นหนึ่งในจำนวน 55 ประเทศที่มีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

สำหรับประเทศไทย โดยกระทรวงยุติธรรมยึดหลักสิทธิมนุษยชน ได้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง มีการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชนต่อการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดทิศทางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต การพิจารณาใช้มาตรการทางเลือกอื่น ๆ รวมถึงถอดบทเรียนจากสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางในการขับเคลื่อน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใส เท่าเทียม และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ

“เราไม่สามารถหยุดอาชญากรรมได้ แต่เราสามารถหยุดการฆ่าโดยรัฐได้ แต่ละประเทศมีแนวทางการลงโทษผู้กระทำผิดที่เหมาะสมของตัวเอง การจบชีวิตอาจดูสบายเกินไป อาชญากรควรใช้เวลาเพื่อสำนึกผิดกับอาชญากรรมที่ก่อไปตลอดชีวิตในเรือนจำ” นายเอลเบกดอร์จ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน