รมว.สธ. เผย ลงพื้นที่แม่สอด ดูแลความพร้อมทางการแพทย์ แจง รพ.แม่สอด ไม่ได้ประกาศแผนภาวะฉุกเฉิน ระดับ 5 แต่เป็นแผนภายในโรงพยาบาล

เมื่อเวลา 09.25 น. วันที่ 23 เม.ย. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการลงพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์แก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา วานนี้ (22 เม.ย.) ว่า ตนได้ไปดูพื้นที่ทั้ง 4 จุด คือ รพ.แม่สอด ด่านสะพานมิตรภาพที่ 1 ด่านสะพานมิตรภาพที่ 2 และพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่เป็นศูนย์พักพิงผู้อพยพ

สถานการณ์โดยรวมในการดูแลทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์จนถึงวันที่ 22 เม.ย.67 ทั้งสิ้น 113 ราย รักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด 82 ราย

โดยวันที่ 20 เม.ย.67 มีผู้เข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ปฏิบัติตามหลักการการรับแผนผู้บาดเจ็บหมู่หรืออุบัติภัยหมู่ ซึ่งภัยที่เกิดขึ้นเป็นภัยสงครามจึงประกาศเป็นแผนรองรับภัยพิบัติระดับ 3 เนื่องจากมีผู้ป่วยมารับบริการมากกว่า 20 คนขึ้นไป

“การลงพื้นที่เป็นการตรวจดูความพร้อมของบุคลากร และเครื่องมือของโรงพยาบาล เพื่อบริหารจัดการทางการแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยที่มาทั้งหมด 22 รายนี้ เราไม่ได้ประกาศเป็นแผนภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน สื่อบางสำนักเขียนว่าประกาศเป็นแผนภาวะฉุกเฉินระดับ 5 ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่

แต่เป็นประกาศแผนภายในของสถานพยาบาลเวลามีอุบัติเหตุ ซึ่งโรงพยาบาลแม่สอดสูงสุดมี 3 แผน หลังจากประกาศแผนแล้วใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ก็ประกาศยุติการประกาศแผนได้และเข้าสู่การรักษาดูแลตามปกติ” นพ.ชลน่าน กล่าว

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า จากนั้น วันที่ 21 และ 22 เม.ย. เป็นการเข้ามารักษาในลักษณะตามปกติ คือทยอยมา ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นภาวะบาดเจ็บจากระเบิด มีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งเมื่อวานนี้ผ่าตัดจำนวน 29 ราย และรอผ่าตัดอีก 3 ราย

ทั้งนี้ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าห้องผู้ป่วยภาวะวิกฤตจำนวน 6 ราย หากสถานการณ์ดีขึ้นจะส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลแม่ระมาดกับโรงพยาบาลพบพระ เพื่อเตรียมความพร้อมให้โรงพยาบาลแม่สอดว่างสำหรับผู้ป่วยรายใหม่

ส่วนการไปดูที่ด่าน ตนพบว่าบรรยากาศซบเซาเงียบเหงาเพราะไม่มีคนผ่านด่าน จากรายงานในด่านแจ้งว่าทางฝั่งเมียนมาแจ้งว่า ระบบการทำหนังสือผ่านแดนไม่สามารถทำได้ เพราะระบบล่ม ซึ่งที่ด่านมิตรภาพ 1 เป็นด่านสำหรับผู้คนที่เข้ามาก็จะมีการคัดกรองโรคตามระบบ แต่ถ้ามีรถส่งต่อมาก็จะมีการคัดกรองว่าเป็นการส่งต่อ นี่คือกระบวนการทั้งหมด

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในส่วนบริเวณจุดพักพิงพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่มี 2 ศูนย์ ซึ่งมีผู้อพยพ 3,000 คน เมื่อวานนี้มีการเดินทางกลับบางส่วน ทำให้เหลืออยู่เพียงศูนย์เดียวจำนวน 900 คน ซึ่งเราได้จัดหน่วยพยาบาลดูแลเบื้องต้น มีการคัดกรองตรวจค้นหาโรค

ซึ่งในการคัดกรองไข้มาลาเรียเรานำมาเจาะเลือด 300 คน พบ 1 คนเป็นไข้มาลาเรีย นี่คือภาพรวมของสถานการณ์ทั้งหมด ซึ่งเรามีความพร้อมในการดูแลทางการแพทย์ และมีความพร้อมที่จะประกาศแผน

ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดก็เตรียมแผนไว้ประกาศเป็น 3 ระดับเช่นเดียวกัน ถ้าอยู่ในระบบพยาบาลเราเรียกแผนระดับ 1 ถ้าจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์จากทางจังหวัดอื่นมาร่วมด้วยเรียกว่าแผนระดับ 2 ถ้าจำเป็นต้องเปิดโรงพยาบาลสนามแล้วระดมทรัพยากรมาจากจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ในเขตบริการเดียวกันจะเรียกว่าแผนระดับ 3

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน