“ทวี-กิตติรัตน์” จัดประชุมระดมสมอง ลุยแก้หนี้ ขจัดยาเสพติด ปราบผู้มีอิทธิพล ลดเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการศึกษา

วันที่ 7 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ จ.นนทบุรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายแก้หนี้ประชาชน ในที่ประชุมมีกำหนดการรับมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาล

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกํากับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย มีการถอดบทเรียนการจัด “มหกรรมแก้หนี้สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด

โดยเชิญผู้อำนวยการยุติธรรมจังหวัดยะลา, สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่, ขอนแก่น, และชลบุรี รวมถึงการระดมความคิดเห็นทบทวนแผนการจัด “มหกรรมแก้หนี้สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” จัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพด้วย โดยมีการจัดประชุมต่อเนื่องถึงวันที่ 8 พ.ค. 2567

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะได้นำความรู้และข้อมูลมาชี้แจงและร่วมหาทางออก โดยมีนายกิตติรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.พาณิชย์, รมว.คลัง และอดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อพูดถึงเรื่องภาคการเงินแล้ว มีประสบการณ์มากมายและกว้างขวาง

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ขณะที่กระทรวงยุติธรรมมีบทบาทให้ความเป็นธรรม ทั้งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทางแพ่ง การบริหารงาน ทางการปกครอง ที่สำคัญกระทรวงยุติธรรมต้องให้ความเป็นธรรมเข้าถึงประชาชน ไม่ใช่ประชาชนต้องเข้าหาความยุติธรรม แต่ต้องให้ความเป็นธรรมเข้าถึงประชาชนโดยเสมอหน้าทุกคน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหา 4 เรื่อง ที่จะมอบให้แก่ “ยุติธรรมจังหวัดที่จะขับเคลื่อนงานควิกวิน (Quick Win) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ เรื่องแรก การแก้ปัญหายาเสพติดที่จะต้องนำคนที่ติดยาเสพติดจนคุณภาพชีวิตด้อยลง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรื่องที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นหัวข้อการประชุมวันนี้

เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องการเอาชนะผู้มีอิทธิพล ผู้ให้การค้ำยัน สนับสนุนที่รวมถึงข้าราชการ ที่มักก่ออาชญากรรมพิเศษซึ่งต้องไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายและเรื่องสุดท้าย คือการเอาชนะความยากจน ที่ไม่ใช่แค่หนี้สินเพราะความยากจนอาจเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรม เช่น กว่า 80% ของผู้ต้องราชทัณฑ์มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน ไม่มีความรู้ ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ จนต้องไปกระทำความผิด ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

“การไกล่เกลี่ยไม่ใช่มหกรรมความจำยอมให้ลูกหนี้เข้าสู่วังวนเป็นหนี้ไม่รู้จักจบสิ้น และไม่ใช่แค่เจ้าหนี้ได้ประโยชน์ แต่ลูกหนี้ซึ่งเป็นประชาชนต้องเป็นได้รับความเป็นธรรม ซึ่งทุกท่านจะได้รับการชี้ทางออกจากปัญหาครับ” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน