พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยเปิดรับสมัคร 20-24 พ.ค.นี้
หากความตื่นตัว ทั้งในส่วนของประชาชนและผู้สมัครกลับไม่คึกคักเท่าที่ควร
จากที่หลายฝ่ายคาดการณ์จะมีผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เกินแสนราย วันนี้ก็มีความไม่แน่นอน
มีปัจจัยอะไรเป็นต้นเหตุ
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ผอ.หลักสูตรการเมือง
และยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า
เท่าที่มองตัวเลขผู้สมัครสว.ใน 5 วัน น่าจะประมาณ 20,000 กว่าคน อัตราการสมัครเฉลี่ยวันละ 2,000 คน ในช่วงแรกๆ จนไปสิ้นวันรับสมัคร 24 พ.ค. ดูแล้วผู้สมัครไม่น่าจะเกิน 100,000 คน
อาจเนื่องจากมีขั้นตอนที่ใช้เอกสารเยอะ การขอใบสมัครก็ต้องมีบัตรประชาชนประกอบ คนที่ไม่พร้อมก็คงไม่อยากไปสมัคร
อีกส่วนหนึ่งคือมีคนอีกจำนวนหนึ่งอยากสมัคร แต่ขาดคุณสมบัติ อาจลืมไปเลือกตั้งท้องถิ่นก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ทำให้ผู้สมัครสว.ลดลงไปอีก
และบางกลุ่ม เช่น กลุ่มศิลปิน สื่อมวลชนก็ใช่ว่าจะมีการกระจายตัวไปถึงระดับอำเภอ หลายอาชีพดูจำนวนแล้วคงมีไม่มาก จะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีผู้สมัครสว.น้อย
ส่วนค่าสมัคร 2,500 บาท ค่อนข้างจะสูงสำหรับชาวไร่ ชาวนา หรือเกษตรกร ก็เป็นเงื่อนไขและเป็นอุปสรรคของคนเหล่านั้นที่จะไปสมัคร
การแนะนำตัวเป็นปัญหาแน่ๆ เพราะกกต.ให้แนะนำเฉพาะประวัติตัวเองแบบสั้นๆ ทำให้คนที่อยากแสดงตัว มีประวัติยาวเหยียด อยากแสดงวิสัยทัศน์ ไม่มีโอกาส และเป็นข้อจำกัดในการจะโน้มน้าวจูงใจให้คนอื่นมาเลือก
การพูดประวัติคร่าวๆ แค่นี้อาจมองว่าเสียเวลาเปล่า เพราะการลงสมัครใช้เวลา 6 วัน ต้องมีค่าใช้จ่าย นอกจากค่าสมัครแล้วยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าเดินทางเข้าอำเภอ ไปจังหวัด และไปแข่งระดับประเทศ ค่าใช้จ่ายมากพอสมควรสำหรับผู้ไม่มีทุนเยอะ ไม่มีใครหนุนหลัง คนที่จะลงสมัครได้ต้องมีจิตใจมุ่งมั่นจริงๆ
ส่วนที่กกต.แก้ระเบียบให้แนะนำตัวผ่านโซเชี่ยลให้ประชาชนดูได้นั้น ผู้สมัครก็ยังแนะนำได้แค่ประวัติตามที่กรอกในใบสมัคร ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งแต่ก็แค่นั้นไม่เหมือนการพูดแนะนำตัวเพื่อจูงใจ
การเลือกระดับอำเภอบางแห่งคิดว่าจะมีผู้สมัครน้อย แต่ละอำเภอกลุ่มอาชีพไหนสมัคร 5 คน ก็จะได้เป็นตัวแทนระดับอำเภอเลย และเลือกเหลือ 3 คนเพื่อไปจังหวัด
เมื่อเป็นอย่างนี้การเลือกสว.ก็ไม่เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ เพราะไม่มีสิทธิ์เลือก ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการตั้งแต่ออกแบบรัฐธรรมนูญแล้ว
สว.คือตัวแทนปวงชนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อจำกัดสิทธิ์ประชาชนในการเลือกสว. โดยอ้างเหตุผลว่าระบบการเลือกตั้งไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะถ้าระบบเลือกตั้งมีปัญหาก็ควรแก้ให้ดีขึ้น ไม่ใช่แก้โดยตัดสิทธิ์ประชาชน
หนักเข้าไปอีกก็ตอนที่กกต.ออกระเบียบห้ามผู้สมัครแนะนำตัว หรือพูดว่าจะทำอะไรบ้างในอนาคต หรือแสดงจุดยืนทางการเมือง ทั้งที่สว.เป็นตัวแทนปวงชน การจะทำให้คนเลือกต้องพิจารณาประกอบกันทั้งประวัติในอดีต ความตั้งใจที่จะทำในอนาคต แต่ครั้งนี้กลับไปห้ามครึ่งหนึ่งและแสดงได้ครึ่งเดียว
สุดท้ายแล้วสว.ที่เราอยากได้คงไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าสว.ที่ตั้งโดยคสช. คือสว.ชุดเก่าที่ตั้งโดยคนไม่กี่คนเลือกกันเอง แล้วเอามาใช้ประโยชน์ให้คณะรัฐประหาร สว.ที่จะเลือกกันใหม่แม้ระบบไม่ดีแต่ยังหลากหลายมากขึ้น
ณัฐกร วิทิตานนท์
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่
การที่ผู้สมัคร สว.ยังไม่เป็นไปตามเป้ามาจากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือระเบียบ กกต. โดยกระแสก่อนหน้าจะมีระเบียบกกต. มีความตื่นตัวได้มากกว่านี้ แต่หลายคนตัดสินใจถอยหลังเห็นระเบียบดังกล่าว
หากเป็นคนที่มีพื้นฐานสูงเขาก็เดินหน้าต่อ ไม่มีปัญหา แต่หากเป็นชาวบ้าน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มรับจ้างเขาไม่แน่ใจว่าหากลงสมัครจะติดคุกหรือไม่ เพราะกกต.ก็มีท่าทีขู่ห้ามทำนั่นนี่
ในชีวิตประจำวันคนพวกนี้ประกอบอาชีพหลายอย่างพร้อมกัน หากลงสมัครสว.ด้วยอาจไม่เอื้อ เช่น ผู้ขายของออนไลน์ เป็นต้น ข้อกำหนดห้ามออกสื่อก็มีผลต่อการประกอบอาชีพปกติ
ซึ่งมีข้อกังวลว่าตัวระเบียบขัดต่อกฎหมายหรือไม่เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่กกต.ไปออกระเบียบละเอียดยิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการให้สัมภาษณ์สื่อ
อุปสรรคสำคัญจึงเป็นเรื่องของกฎระเบียบ คนที่ตนรู้จักหลายคนก็ถอย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเพื่อนฝูงและไม่มีคนให้คำชี้แนะ ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักว่าจะสมัครหรือไม่
ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ยังไม่มีคนไปรับใบสมัครแม้แต่คนเดียว บางอำเภอมีเพียงหลักหน่วย อำเภอที่มีความเป็นเมืองสูงก็จะมีคนไปรับใบสมัครจำนวนมาก เนื่องจากมีการแข่งขันกันเข้มข้น
กกต.จะไม่เปิดเผยข้อมูล 2 อย่างที่มีผลต่อการเลือกคือ อำเภอที่จะไปลงกับกลุ่มอาชีพ ขณะที่บางคนรอว่าจะไปลงอำเภอไหน และจะลงในกลุ่มอาชีพใด โดยหวังว่าหากลงในกลุ่มอาชีพหรืออำเภอที่มีคนลงสมัครน้อยๆ ก็จะมีโอกาสผ่านรอบอำเภอไปสู่รอบจังหวัดได้ จึงเป็นเหตุให้รอและยังไม่ไปรับใบสมัครในช่วงนี้
ขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนการขอรับใบสมัครกว่าจะถึงวันที่ 24 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย อาจจะมีผู้สมัครอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การเลือกสว.ครั้งนี้ ถือเป็นระบบเลือกแบบปิดเพราะให้ผู้สมัครเท่านั้นได้เลือกกันเอง ดังนั้นการจะจัดเวทีแล้วเชิญผู้สมัครมาจึงไม่ตอบโจทย์ กกต.จึงต้องคิดวิธีว่าจะทำอย่างไร ปัญหาคือกระบวนการที่กกต.คิดไว้ ไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ในกฎหมาย เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วม
ค่าสมัคร 2,500 บาทไม่ได้เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการสมัครสว.แบบถ้วนหน้า ถามว่า 2,500 บาทสูงเกินไปหรือไม่ก็ตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องแล้วแต่ละบุคคล แต่คิดว่าไม่ค่อยแฟร์นัก เพราะถ้าตัดค่าสมัครออกเอาแต่เกณฑ์อายุหรือคุณสมบัติอื่นๆ คนอาจอยากลงสมัครมากกว่านี้ และอาจช่วยป้องกันการระดมคนแบบจัดตั้งได้ด้วย
และกรณีผู้สมัครน้อยจะทำให้ตัวเลือกจากอำเภอไปถึงระดับจังหวัดมีตัวเลือกที่น้อยมาก จะไม่ได้เต็มจำนวนแบบที่ตั้งเป้า เพราะกลุ่มอาชีพก็ไม่ครบ ไม่เกิดการเลือกข้ามสาย เงื่อนไขที่ว่าเมื่อผ่านเข้ารอบสองต้องให้คนอื่นมาเลือกคุณ หากไม่มีคะแนนจากกลุ่มอื่นเลยก็จะไม่ได้ไปต่อ อาจเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้นได้
แต่ยังเชื่อว่าครั้งนี้ จะมีผู้สนใจลงสมัครมากกว่าครั้งก่อนๆ แต่คงไม่สามารถเทียบเท่ากับสมัยเลือกตั้งได้ เพราะครั้งนี้เหมือนปิดโอกาสคนทั่วไป เปิดโอกาสให้เฉพาะคนที่มีความมุ่งมั่นเท่านั้น
สุเชาวน์ มีหนองหว้า
อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มรภ.อุบลราชธานี
คนเริ่มสนใจที่จะสมัครสว.มากขึ้นหลัง กกต.มีการพบและพูดคุยกับสื่อมวลชนและแก้ไขระเบียบที่เปิดกว้างมากขึ้นในการแนะนำตัวผ่านสื่อออนไลน์ เปิดกว้างให้ประชาชนรับทราบและมีส่วน ก็น่าจะกระตุ้นให้คนเริ่มมีความสบายใจมากขึ้นที่จะออกมาสมัคร
อย่างไรก็ตามคาดผู้สมัครจะไม่ถึง 1 แสนคนตามที่คาดการณ์กันก่อนหน้านี้ เพราะด้วยกติกาที่ทราบกันมีความซับซ้อน อาจเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่ไม่มีเครือข่าย รวมทั้งค่าสมัครก็ถือว่าค่อนข้างสูง ยกเว้นคนที่มีเจตจำนงจะเข้ามาจริงๆ
ด้วย 1.กติกาที่รัดตัวผู้สมัคร 2. ด้วยวัฒนธรรมของไทย ความเป็นพรรคพวก พวกพ้อง วัฒนธรรมความใกล้ชิดสนิทสนม ความอุปถัมภ์ และ 3. ฝ่ายการเมืองคงไม่อยู่นิ่ง ไม่ปล่อยให้สว.เป็นอิสระได้เหมือนในอดีตที่มีการเลือกตั้งในปี 2540 ที่เป็นการเลือกตั้งโดยตรง ฝ่ายการเมืองคงต้องเข้าไปมีส่วนให้สว.มาอยู่ในสังกัดตัวเอง
เหล่านี้เป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คนนำมาประกอบการตัดสินใจว่าจะลงสมัครหรือไม่และคิดหนักเหมือนกัน
ค่าสมัคร 2,500 บาท ถือว่าแพง ถ้าไม่เกิน 1,000 บาท น่าจะมีคนสมัครมากอยู่ 2,500 บาทคนออกกติกา เอาเกณฑ์อะไรมาวัด เรื่องค่าสมัครสำหรับชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา กลุ่มประชาชนจริงๆ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ
โดยเฉพาะกระบวนการในการคัดสรรสว.ที่โปร่งใส เปิดกว้าง จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้กกต. ได้สบายใจจากแรงกดดัน และการวิพากษ์วิจารณ์ที่ผ่านมา
เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือผู้สมัครในระดับอำเภอ ผู้สมัครแต่ละกลุ่มอาชีพน่าจะมีไม่ครบเกณฑ์ที่กำหนดจะเลือกไขว้ ดังนั้น ระดับอำเภอคงยึดตามผู้สมัครแต่ละกลุ่มและส่งไประดับจังหวัดเลย และไปคัดในระดับประเทศ
แม้ระเบียบกกต.ยังมีหลายข้อที่สังคมกังวล แต่อย่างน้อยควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามขั้นตอนที่ผู้สมัครเปิดตัว รวมทั้งกระบวนการได้มาซึ่งสว. คงทำให้ประชาชนนั้นตื่นตัวมากขึ้น
เห็นด้วยที่กกต.บอกว่าให้สื่อมวลชนสามารถเสนอข่าวโดยประกาศรายชื่อผู้สมัครได้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารสว.ว่าจะเป็นใคร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดอ่อนของการเลือกสว.คือการสร้างกติกาให้มันซับซ้อน ไม่ทราบว่าคนร่างกติกามีวัตถุประสงค์อย่างไร อาจเป็นการลองผิดลองถูกเพราะประเทศไทยเปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งสว.บ่อยครั้ง