สุทิน เร่งแก้กฎหมาย สนับสนุนเอกชนไทยขายอาวุธ พร้อมริเริ่มให้กองทัพจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศ ยอมรับงบประมาณปี 68 กองทัพจัดซื้ออาวุธสูงเพราะหมดอายุ
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 ที่สำนักงานปลัดกลาโหม ถนนศรีสมาน นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีส่งมอบรถยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 จำนวน 10 คัน ของบริษัท ไทยดีเฟนส์อินดัสตรี จำกัด (TDI) และอาวุธปืนเล็กสั้น อาวุธปืนพก จำนวน 230 กระบอก ของบริษัท อุตสาหกรรมผลิตอาวุธ จำกัด (WMI) ให้กับเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ราชอาณาจักรภูฏาน นำไปใช้ในภารกิจรักษาสันติภาพ
จากนั้นนายสุทิน เปิดเผยว่า เป็นการช่วยให้ประเทศเดินหน้าในเรื่องความมั่นคงและนำรายได้ทางด้านยุทโธปกรณ์ เข้าสู่ประเทศ แสดงถึงขีดความสามารถของเอกชนไทยและได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ วันนี้ถือเป็นล็อตแรกและอาจมีเพิ่มเติม ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศยังได้เจรจากับอีกหลายประเทศโดยเฉพาะในอาเซียน น่าจะจบการประสานงานในเร็วๆนี้ เชื่อว่าจะขายอาวุธได้อีกเป็นจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องน่ายินดี
ส่วนการปรับแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนผลิตอาวุธออกขาย นายสุทินกล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อส่งเสริมผลักดันให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศก้าวหน้า ซึ่งผลการศึกษาจำเป็นต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ อย่างน้อยคือเรื่องเกี่ยวกับภาษี เพราะขณะนี้เอกชนไทยยังเสียเปรียบต่างประเทศอยู่ เนื่องจากการนำชิ้นส่วนเข้ามาผลิตต้องเสียภาษีมากกว่า การนำยุทโธปกรณ์ที่ผลิตเสร็จแล้วเข้ามา
ดังนั้น ต้องแก้ไขกฎหมายควบคุมอาวุธและการส่งออกอาวุธ ซึ่งใช้มานาน จึงต้องสร้างความสมดุล ซึ่งคณะทำงานเตรียมประชุมแก้ไขกฎหมาย เพื่อผลักดันให้ทันการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมนี้ รวมถึงการผลักดันพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ในการปฏิบัติภารกิจและส่งเสริมให้เอกชนได้เดินหน้า ทำงานคล่องตัวไปพร้อมกัน
นายสุทิน กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นหนึ่งใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งมองคล้ายกับรัฐบาลที่ผ่านมา หากส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เอกชนมีความแข็งแรงก็จะเกิดความมั่นคงด้านอาวุธของไทย หากเกิดเหตุการณ์ใดก็ไม่ต้องพะวง
ที่สำคัญ ประหยัดการจ่ายเงินออกนอกประเทศ และนำเงินกลับเข้ามาในประเทศได้ด้วย ซึ่งมีมูลค่าที่สูงเพราะมูลค่าการค้าอาวุธใช้งบประมาณสูง จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ และเชื่อมั่นในภาคเอกชนไทยที่มีความสามารถ และไทยยังมีความร่วมมือกับอีกหลายประเทศ
จาก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดร่วมทีมไปด้วย โดยมีเอกชนไทยร่วมทำเอ็มโอยูกับฝรั่งเศส ก็เป็นการส่งเสริมเรื่องของการขายแม้จะไม่มาก แต่ถือเป็นการขับเคลื่อนในทุกมิติ
ส่วนที่เหล่าทัพจัดซื้ออาวุธในประเทศน้อยมากนั้น เห็นว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องเริ่มทำโดยคณะทำงานของกระทรวงกลาโหมเสนอว่าอย่างน้อยอาวุธใดที่ผลิตได้เองในประเทศ กองทัพควรจัดซื้อในประเทศก่อนเป็นลักษณะขั้นบันได ตามสัดส่วนที่ต้องค่อยๆไต่ระดับ โดยจะริเริ่มในปี 2568 บังคับใช้อย่างจริงจัง และเชื่อว่าทางเหล่าทัพจะไม่ขัดข้องที่จะซื้ออาวุธในประเทศ แต่จะเปลี่ยนแบบทันทีคงเป็นเรื่องยากต้องไต่ระดับไปเรื่อยๆ
ส่วนภาพรวมการจัดซื้ออาวุธในปี 2568 นายสุทินกล่าวว่า ยอมรับว่ามีการจัดซื้อจำนวนมากเพราะเป็นเหตุบังเอิญยุทโธปกรณ์หลายประเภทหมดอายุ จึงต้องจัดหาใหม่ในช่วงนี้พอดี เช่น เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศ ซึ่งจะหมดอายุในปี 2570 ต้องเตรียมจัดซื้อล่วงหน้า ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจกับทางสภาฯและประชาชนถึงความจำเป็น ส่วนรายการใดที่ใช้ในประเทศได้ก็จะจัดซื้อในประเทศ