เครื่องประหารนำชาติ

ใบตองแห้ง

มีชัย ฤชุพันธุ์ เผยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าพรรคการเมืองใดที่กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ใช้อำนาจล้มล้างการปกครอง รับเงินจากต่างด้าว รับเงินจากคนที่สนับสนุนให้ล้มล้างการปกครอง และรับเงินเพื่อเอาตำแหน่งมาแจก มีโทษถึงขั้นยุบพรรค โดยใครที่ล้มล้างการปกครอง รับหรือให้เงินซื้อขายตำแหน่ง มีโทษถึงประหารชีวิต

เครื่องประหารหัวสุนัขคงร้อนฉ่า เพราะนำมาใช้ปกป้องชาติบ้านเมืองถี่ยิบ

ถามนิดนะ ถ้าซื้อขายตำแหน่งมีโทษประหารชีวิต แล้วการฝากฝัง อุปถัมภ์ วิ่งเต้น เส้นสาย ช่วยเหลือกันโดยมิได้ใช้เงิน แต่อ้างบุญคุณน้ำใจในสังคมไทย (หรืออ้างเป็นคนดี) ควรมีโทษอย่างไร แล้วพวกที่ฝากลูกเข้าโรงเรียนโดยจ่ายเงินให้สมาคมผู้ปกครองและครู ควรมีความผิดไหม หรือมาตรฐานนี้จะใช้เฉพาะนักการเมือง

นี่ยังไม่พูดถึงการบรรจุลูกหลานเข้ารับราชการต้องประหารไหม

ข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” มีโทษถึงประหาร ฟังดูก็เข้าที แต่ประเทศนี้เกิดรัฐประหารล้มล้างการปกครองมากี่ครั้ง เคยมีความผิดไหม รัฐธรรมนูญ 2517 เคยบัญญัติไว้ “การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” แต่ก็ไม่มีความหมายอะไร นิรโทษได้กระทั่งการเข่นฆ่ากันอย่างโหดร้ายทารุณเมื่อ 6 ตุลา 2519

แต่ถ้าจะมีความหมาย ก็คือการใช้เอาผิดพรรคการเมืองและรัฐสภา ในความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติของ ส.ว.เมื่อปี 2556 เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68

แก้รัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 กลายเป็นความผิดฐานล้มล้างการปกครอง ถ้ายึดมาตรฐานนี้ต่อไป พรรคการเมืองใดพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2559 แล้วศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าล้มล้างการปกครอง นอกจากยุบพรรคแล้วยังมีความผิดถึงประหารชีวิต

ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ เพราะนอกจากปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังชี้โทษประหารคนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ด้วย

นี่คือการเขียนกฎหมายลูกปกป้องรัฐธรรมนูญตัวเองไว้ ไม่ให้ถูกแก้ไขชั่วกัลปาวสานใช่หรือไม่

ลำพังบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 255-256 ก็เขียนให้แก้ไขได้ยากอยู่แล้ว ต่อให้พ้นบทเฉพาะกาล 5 ปี ที่ส.ว. 250 คนมาจากแต่งตั้ง ก็อย่าคิดว่าจะแก้ได้ง่ายๆ วันใดวันหนึ่งถ้าเกิดพรรคการเมืองชนะเลือกตั้งถล่มทลาย จะแก้ไขให้ส.ว.มาจากเลือกตั้ง แก้ไขอำนาจศาล องค์กรอิสระ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ แล้วมีคนออกมาปลุกม็อบต้าน อำนาจแก้วิกฤตตามรัฐธรรมนูญนี้คือมาตรา 5 (ไม่ใช่มาตรา 7) ประธานศาลรัฐธรรมนูญเรียกประชุมประธานศาลต่างๆ ประธานองค์กรอิสระ “ยึดอำนาจ” ได้ทันทีโดยถูกต้องตามวิถีรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ

คำถามคือจะปิดกั้นประชาธิปไตย เข่นฆ่านักการเมืองจากเลือกตั้งกันไปถึงไหน ยกตัวอย่าง ปู่มีชัยเตือนว่าถ้ารัฐธรรมนูญประกาศราชกิจจาฯเมื่อใด สนช.จะไม่มีอำนาจถอดถอน นักการเมืองอีก ก็ยังเร่งมือปั๊มอำนาจกันยิกๆ ทั้งที่ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองเลย

การเมืองในช่วงต่อไป ถ้ายิ่งออกมาตรการปิดกั้นลมหายใจ ใช้ “ยาแรง” สกัดขัดขวางอำนาจเลือกตั้ง (ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่า 5 ปีใต้บทเฉพาะกาล อำนาจเลือกตั้งไม่มีทางเผยอได้) แรง เสียดทานก็จะยิ่งสูงขึ้น นี่ไม่ใช่ “เปรมโมเดล” เพราะยุคป๋านำประเทศเดินหน้าด้วยการปรองดองทุกฝ่าย

จุดแข็งของระบอบปัจจุบัน คือครองอำนาจอยู่บนทางตัน ประชาชนไม่เห็นทางออก ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า ไม่มีฉันทามติ ไม่เหมือนยุค 14 ตุลา พฤษภา 35 ที่คนยังเชื่อ “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” ระบอบอำนาจจึงสามารถรุกไล่ บีบให้ผู้คนจำยอม ตราบใดที่ยังพอทนได้ แต่ถ้าได้คืบเอาศอกไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้จะเกิดอะไร

การเมืองจากนี้ไปถึงเลือกตั้ง จะสั่งสมความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ ปากท้อง และข้อเรียกร้องทางการเมือง การออกกฎหมายลูกฉบับต่างๆ จะสร้างความขัดแย้ง มากขึ้น เห็นความตีบตัน ปิดกั้น หมดหนทางต่อสู้ผ่านกติกา ผ่านการเลือกตั้ง ท่ามกลางเสียงเยาะเย้ยดีอกดีใจของพรรค อีกข้างคนอีกฝ่าย

พูดง่ายๆ คือถ้าการเลือกตั้งยังหวังพึ่งได้ คนที่ไม่พอใจก็จะไประบายผ่านการเลือกตั้ง แต่ถ้าการเลือกตั้งไม่สามารถเป็นทางออกได้ มันก็กลายเป็นการสั่งสมความไม่พอใจที่ไม่มีทางออก ซึ่งมองไม่ออกว่าจะนำไปสู่อะไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน