หลังกกต.มีมติรับรองผล 200 สว.อย่างเป็นทางการ และบัญชีชื่อสำรองอีก 99 ราย บรรดาสว.ต่างทยอยเข้ารายงานตัวที่รัฐสภากันอย่างคึกคัก

ไม่เพียงสว.ป้ายแดงจะถูกจับจ้องก็ยังเห็นบรรยากาศการแบ่งกลุ่มก๊วนที่ชัดเจนขึ้น

นอกจากสว.สายสีน้ำเงิน หรือกลุ่มบ้านใหญ่บุรีรัมย์ที่พูดกันมาตั้งแต่ช่วงการเลือกสว. ยังปรากฏภาพของสว.กลุ่มอิสระ นอกเหนือจากการรวมตัวของสว.ที่มาจากจังหวัดเดียวกัน หรือกลุ่มอาชีพเดียวกัน

แต่ไฮไลต์ช่วงการรายงานตัวคือ ตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภา โดยการประชุมวุฒิสภานัดแรกที่คาดจะมีขึ้นปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.ค.ต้องมีมติในเรื่องดังกล่าว

สว.ที่มารายงานตัวต่างถูกยิงคำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติและรายชื่อประธานวุฒิสภา บางรายยืนยันยังไม่มีรายชื่อในใจและยังไม่มีใครมาแนะนำตัวเพื่อขอเสียง บ้างก็บอกมีหลายคนติดต่อมาแล้ว บางคนอาสาตัวว่ามีความพร้อม

เช่น นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตกกต. ยืนยันหนักแน่นหากได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานก็พร้อม

ออกตัวชัดเจนด้วยประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้พิพากษา อดีตกกต. และช่วง 5 ปี ที่ผ่านก็เป็นที่ปรึกษานายศุภชัย สมเจริญ อดีตรองประธานวุฒิสภา เข้าใจบทบาทอำนาจหน้าที่ของสว.ดี และส่วนตัวมีความจงรักภักดีต่อ 3 สถาบันหลัก

ส่วนคุณสมบัติของประธานสภาสูง นายบุญส่ง มองว่าไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องกฎหมายก็ได้เพราะระเบียบข้อบังคับการประชุมมีอยู่แล้ว แต่ต้องแม่นข้อบังคับเพราะตีความได้ยาก

และในยุคที่วุฒิสภามาจากหลากหลายกลุ่ม หลากหลายอาชีพ การควบคุมที่ประชุมอาจยากหน่อย ประธานต้องเก่งและประนีประนอมได้

ส่วนแคนดิเดตชิงเก้าประธานวุฒิสภาอีกคน นายมงคล สุรสัจจะ ชี้แจงว่า การมีชื่อเป็นแคนดิเดตทำให้ตัวเขาไปไหนมาไหนไม่สะดวกและไม่ชอบเลย

แต่หากได้รับการเสนอชื่อจริงๆ ก็ถือเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเขาจึงยังพูดอะไร ไม่ได้ และไม่ได้คิด ไม่ได้ฝัน

ด้าน บิ๊กเกรียง-พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ.และ มทภ.4 ตัวเต็งประธานวุฒิสภา เจ้าตัวบอกทันทีที่ถูกสื่อตั้งคำถาม หนักใจที่ถูกมองเป็นตัวเต็งประธานวุฒิสภา

เพราะความตั้งใจที่มาลงสมัครนั้นอยากเข้ามาทำหน้าที่ในกมธ.ด้านการทหารและด้านความมั่นคง ตั้งใจมาทำหน้าที่เรื่องการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ การสร้างสันติสุข

อย่างไรก็ตาม พล.อ.เกรียงไกร ไม่ได้ขัดขืนหากได้มีการเสนอชื่อ โดยระบุทุกคนต้องพร้อมหมด ไม่เฉพาะตน สว.ทั้ง 200 คน มีสิทธิเท่าเทียมกันในการถูกเลือก ทุกคนมีประสบการณ์องค์ความรู้และความเหมาะสม

ส่วนที่วิเคราะห์กันตัวเขาจะได้รับการสนับสนุนจากสว.สายสีน้ำเงินนั้น พล.อ.เกรียงไกร ปฏิเสธทันทีว่าไม่ใช่ ส่วนที่ว่าเขาเป็นสว.สีน้ำเงินนั้น เขาสีน้ำเงินเข้มเพราะเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ด้วยชีวิต

ส่วนคุณสมบัติของประธานวุฒิสภา บิ๊กเกรียงยืนยันต้องมีความรอบรู้ด้านกฎหมาย มีวุฒิภาวะ และเป็นที่ยอมรับ

อีกคนที่ระบุถึงคุณสมบัติของประธานและรองประธานวุฒิสภาคือ นายชิบ จิตนิยม ที่เห็นว่าต้อง รู้เรื่องตัวบทกฎหมาย ระเบียบวาระต่างๆ ต้องแม่นยำ

โดยเฉพาะประธานวุฒิสภาควรเป็นนักกฎหมาย เพราะเท่าที่ดูระเบียบวาระการประชุม การตั้งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ หากไม่แม่นกฎหมายจริงๆ อ่านครั้งแรกเชื่อว่างง ยอมรับว่าในกลุ่มมีการพูดคุยกันภายในถึงการส่งบุคคลเข้าชิงประธานและรองประธานวุฒิสภาด้วย

ขณะเดียวกัน มีการเสนอโควตาสว.สตรี เข้ามานั่งในตำแหน่งประธานหรือรองประธานวุฒิสภา โดยเฉพาะ การจัดตั้ง “สว.กลุ่มอิสระ” ที่นัดหารือกันและสนับสนุนให้มีรองประธานเป็นผู้หญิง ซึ่งกลุ่มเตรียมผลักดันสว.ในเครือข่ายรับตำแหน่งดังกล่าว

นางนันทนา นันทวโรภาส ยอมรับว่ามีการรวมตัวกันของ สว.กลุ่มอิสระจริง และหากในกลุ่มมีบุคคลที่เหมาะสมก็จะส่งไปชิงประธานและรองประธาน แต่จะเป็นตนเองที่เป็นตัวแทนเข้าชิงหรือไม่ยังไม่ทราบ ต้องให้กลุ่มมีมติออกมา

น.ส.นวลนิจ หงษ์วิวัฒน์ สนับสนุนว่าตำแหน่งประมุขสภาสูงควรมีสัดส่วนของผู้หญิง และส่วนตัวก็พร้อมถ้าหากได้รับการเสนอชื่อถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งเพราะทำงานต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีอยู่แล้ว และเคยทำงานที่สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในสมาชิกสว.กลุ่มอิสระ ยืนยันในกลุ่มยังไม่ได้คุยกันเรื่องตำแหน่ง ประธานสภาสูง แต่ส่วนตัวอยากเห็นประธานวุฒิสภาเป็นพลเรือนและเป็นผู้หญิง

อีกทั้งในระดับสากล ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ค่อยเห็นหน่วยงานความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือที่กำลังปฏิบัติหน้าที่มาเป็นประธานวุฒิสภา

หรืออย่างน้อยควรมีที่นั่งในตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา ด้วยเหตุผลว่า หากมองเรื่องความเสมอภาคทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีผู้หญิง อย่างน้อย 1 ตำแหน่งต้องให้ผู้หญิง เพราะทุกคนที่เข้ามาล้วนมีศักยภาพและความสามารถ รวมถึงหากมีคนเสนอชื่อตนก็สามารถทำหน้าที่ได้

ทั้งหมดล้วนเป็นความเห็นของคนในต่อผู้จะเข้ามาทำหน้าที่ประธานและรองประธานวุฒิสภา ส่วนในสายตาของนักวิชาการ คนนอกที่มองคิดเห็นอย่างไร

นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช มองว่าโดยหลักทั้งประธานและรองประธานต้องมีความเข้าใจในรัฐสภาและระบบกฎหมายพอสมควร อาจไม่ถึงขั้นเชี่ยวชาญ

และต้องเป็นที่ยอมรับของสมาชิกรวมไปถึงสังคมด้วย เพราะต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย แม้จะมาจากการเลือกกันเอง แต่ตรงนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญ

อีกส่วนหนึ่งคือแนวความคิด คนที่จะมาเป็นประธานวุฒิสภาหรือแม้กระทั่งสว. 200 คนนั้นต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่มาของสว.

เมื่อได้เข้ามาในสภาแล้วจะทำอย่างไรจะไปแก้ไข เรื่องที่มาของส.ว. อย่างไรเพื่อให้สังคมไม่มีข้อกังขา ถือเป็นภารกิจสำคัญของสว.ชุดนี้ รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆ ฉะนั้นทั้งคนที่จะเป็นประธานและเป็นสมาชิกต้องแสดงจุดยืนชัดเจน

ส่วน 2 รายชื่อแคนดิเดตที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น ทั้งสองก็มาจากอดีตข้าราชการ ฉะนั้นในแง่ของความคิดต่างๆ อาจจะมีแนวคิดแบบระบบราชการ แล้วสุดท้ายก็จะทำให้วุฒิสภาซึ่งเดิมเราก็เคยวิพากษ์วิจารณ์ สว. 250 คน ว่าส่วนใหญ่มาจากข้าราชการประจำ

และถ้าวันนี้ประธานสว. ยังมีที่มาจากข้าราชการ ประจำอยู่ก็คงไม่ได้ต่างอะไรจากเดิม ก็จริงที่อาจมีความรู้ในข้อกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางราชการที่ชำนาญ แต่ในแง่แนวความคิดที่ว่าสภาเป็นของประชาชนก็อาจมีน้อยลง

ส่วนการเสนอว่ารองประธานควรเป็นผู้หญิงมองว่าไม่จำเป็น ไม่ว่ารองประธานจะเป็นใครอย่างไรการทำงานทุกคนก็เป็นสมาชิกเท่ากันอยู่แล้ว

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่ารองประธานต้องเป็นสุภาพสตรี เพราะสุดท้ายการทำงานทุกคนก็เท่าเทียมกัน

ส่วนที่สว.มีการตั้งกลุ่มกันแล้วนั้น ถ้าเป็นไปเพื่อต่อรองเรื่องตำแหน่งก็เป็นสิ่งที่แย่มากกับการที่สว.รวมกลุ่มกัน

ยิ่งทำให้คำว่าสว.มาจากการฮั้วกันเห็นภาพที่ชัดเจนการฮั้วเกิดขึ้นได้ทุกระดับจนถึงระดับต่อรองตำแหน่งประธาน รองประธาน กรรมาธิการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน