นายกฯ แจงสภา ของบเพิ่ม 1.22 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ-เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลั่น ฐานะการเงินของประเทศยังแข็ง พร้อมรับปากใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ก.ค.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และการดำรงชีพ สร้างโอกาสประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 1.22 แสนล้านบาท
นายกฯ กล่าวว่า สำหรับประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณปี 2567 ประกอบด้วย 1.ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 1 หมื่นล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 1.12 แสนล้านบาท
ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ที่รัฐบาลนำเสนอ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมาย และระเบียบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
นายกฯ กล่าวถึงภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจของประเทศปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 (ค่ากลางร้อยละ 2.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภค บริโภค และการลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 – 1.1 (ค่ากลางร้อยละ 0.6) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
นายกฯ กล่าวว่า ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากส่วนราชการอื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 1.12 แสนล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 1.22 แสนล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
ดังนั้น การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
นายกฯ กล่าวว่า สำหรับฐานะการคลังประเทศหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เม.ย.2567 มีจำนวน 11.5 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 63.78 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ยังอยู่ในกรอบบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายที่ต้องไม่เกินร้อยละ70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ส่วนฐานะเงินคงคลัง วันที่ 31พ.ค.2567 มี 3.94 แสนล้านบาท เงินสำรองระหว่างประเทศ 2.21 แสนล้านดอลลาร์ จัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก
สำหรับงบร่ายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567วงเงิน 1.22 แสนล้านบาทนั้น จำแนกเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง 1.22แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ100 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาทดังกล่าว เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิม ตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท จะทำให้ปีงบประมาณ 2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3.6 ล้านล้านบาท
นายกฯ กล่าวว่า แม้ว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี2567 จะขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 97,600 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 7.1 แสนล้านบาท ทำให้มีรายจ่ายลงทุน 8.07 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2566 ร้อยละ 17.1 คิดเป็นร้อยละ 22.4 ของวงเงินงบประมาณรวม
การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ เป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้ประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย